ในสมรภูมิรบฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2458 ได้มีการจัดรณรงค์ให้เกิดความรักชาติ หรือ Patriotic League ในกลุ่มชนชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของสยาม การรณรงค์ดังกล่าวจัดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วสหราชอาณาจักร ไม่เว้นแม้แต่ในต่างประเทศ ที่มีคนอังกฤษทำงานอยู่ ทั้งนี้เพื่อปลุกระดมให้เกิดความรักชาติ ให้ 'เชื่อว่า' สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามเพื่อความถูกต้อง และเป็นหน้าที่ที่คนดีมีคุณธรรมทุกคนพึงปฏิบัติในการปกป้องประเทศและครอบครัวโดยอาสาสมัครไปร่วมรบในสงคราม
ด้วยความเชื่อที่ถูกปลูกฝังอย่างขนานใหญ่เช่นนี้ จึงมีชาวอังกฤษอาสาสมัครกันอย่างล้นหลาม รวมถึงนายห้างป่าไม้ในล้านนาหลายคนก่อนหน้านั้น การอาสาสมัครไปรบ ถือเป็นเรื่องที่สังคมชาวอังกฤษยกย่องว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และได้รับการสรรเสริญ ผิดกับผู้คนซึ่งไม่เข้าไปสมัครเป็นทหารระหว่างสงคราม ที่จะต้องทนกับการถูกเย้ยหยั่นถากถางในวงสังคม
ดังนั้นนายห้างป่าไม้อย่าง มร.ดิบบ์ คงมีความกดดัน และยากลำบากในการตัดสินใจ ระหว่างอยู่ทำงานต่อไปในล้านนา เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนเอง พร้อมกับดูแลครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ ที่ยังเล็ก หรืออาสาสมัครเข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้น การตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งของเขา คงเป็นเรื่องยาก ดังที่ีนักกวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เคยเขียนบรรยายความรู้สึกของชาวอังกฤษ ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้ว่า
“การจะเข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้นคือการเดินเข้าสู่ขุมนรก แต่การไม่อาสาสมัครเข้าสู่สงครามก็เป็นขุมนรกไม่แพ้กัน (It will be Hell to be in it, and Hell to be out of it)”
แต่ในที่สุด มร.วิเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 แม้ขณะนั้นเขาอายุถึง 39 ปีแล้ว มร.ดิบบ์ ขอลาพักงานกับบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้งคอร์ปอเรชั่น โดยรับเงินเดือนครึ่งเดียว (1100/2 รูปี) และออกเดินทางจากเมืองแพร่ในปลายเดือนกันยายนไปยังเมืองโคลัมโบของศรีลังกา จากนั้นจึงโดยสารเรือชื่อ ‘เอส เอส มาโลจา’ ที่มาจากซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ
ในเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าสู่อังกฤษที่เมืองพลีมัธ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มร.ดิบบ์ ได้ขีดฆ่าข้อความที่ระบุว่า ‘อังกฤษเป็นถิ่นพำนักถาวรที่ตั้งใจไว้ในอนาคต’ แต่เลือกข้อความว่า ‘ต่างประเทศ’ แทน ซึ่งอาจตีความได้ว่าเขาตั้งใจจะกลับมาหาครอบครัวในสยามอีก หากสามารถรอดชีวิตจากสงครามมาได้
เมื่อเดินทางมาถึงกรุงลอนดอน มร.ดิบบ์ ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และหลังจากได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน จึงได้ติดยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 โดยประจำอยู่ในหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB (X 37th Trench Mortar Battery) สังกัดหน่วยทหารปืนใหญ่ของกองพลที่ 37
สำหรับหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB นี้เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในกองพลที่ 37 ในเดือนเดียวกันนั่นเอง หน่วยนี้มีอาวุธประกอบ ด้วยปืนครกขนาดกระบอกปืนปานกลาง(2นิ้ว)จำนวนสี่กระบอก ซึ่งมีลูกปืนเป็นโลหะทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว โดยมีก้านยาวกว่า 20 นิ้ว สำหรับการจัดกำลังพลของหน่วย ‘ปืนครกสนามเพลาะขนาดปานกลาง’ ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรจำนวนสองคน จ่าทหารหนึ่งคน นายสิบสี่คน พลทหารสิบหกคน และคนรับใช้พลเรือนของนายทหารอีกสองคน รวมเป็นทั้งหมด 25 คน
หลังจากหน่วยทหาร X 37th TMB ก่อตั้งแล้ว หน่วยนี้ได้เข้าร่วมสงครามครั้งแรกในศึกใหญ่ที่เรียกว่า ‘ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme)’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2459 กินเวลาเกือบห้าเดือน โดยเป็นศึกระหว่างกองทัพเครือจักรภพอังกฤษ ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพฝรั่งเศส รบกับกองทัพเยอรมัน ที่ก่อนหน้านั้นตั้งประจัญหน้ากันมานานเกือบสองปี โดยทั้งสองฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะในบริเวณที่ตนเองยึดครองเป็นแนวยาว ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเหนือของเบลเยียม พาดผ่านตอนเหนือของฝรั่งเศส ไปจนจรดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในบริเวณแนวหน้าเหล่านี้ยังมีป้อมค่ายปืนกล ปืนใหญ่ ตั้งประจำในจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ตลอดแนวซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘แนวรบฝั่งตะวันตก’
สนามเพลาะของทั้งสองฝ่ายขุดเป็นคูลึกท่วมหัว เสริมด้วยถุงทรายเป็นชั้นๆ มีแนวยาวขนานซ้อนกันหลายแนว มีทั้งสนามเพลาะที่ขุดในแถวหน้าสุด ที่ทหารจะสับเปลี่ยนกำลังอยู่ประจำ เพื่อประจัญหน้ากับศัตรูตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน และยังมีสนามเพลาะที่ขุดไว้สำหรับทหารที่เตรียมเสริมหรือสับเปลี่ยนกำลังในแนวหลังอีกหลายแนว โดยมีคูที่ขุดตั้งฉากกับแนวสนามเพลาะเหล่านี้ เพื่อใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร การลำเลียงพล อาวุธ กระสุน ตลอดจนการจัดส่งเสบียง
พื้นที่ระหว่างสนามเพลาะแถวแรกของทั้งสองฝ่ายที่ประจัญหน้ากันอยู่ ซึ่งบางแห่งห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร เรียกว่า ‘เขตปลอดคน (No Man’s Land)’ ด้านหน้าสนามเพลาะแถวแรกของแต่ละฝ่ายในพื้นที่ ‘เขตปลอดคน’ มีการวางรั้วลวดหนามเป็นแนวยาวระเกะระกะเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันการบุกเข้ามาของศัตรู
ชีวิตในสนามเพลาะ เป็นชีวิตที่หฤโหดเหนือคำบรรยาย นอกจากต้องเสี่ยงกับอันตรายจากคมอาวุธของศัตรูแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็นับเป็นอันตรายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งนี้เพราะสนามเพลาะ คือที่อาศัยของหนูนับล้านๆ ตัว ซึ่งนำไปสู่การปนเปื้อนของเครื่องอุปโภคบริโภคจนทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเสมอ นอกจากหนูแล้วยังมีเห็บ หมัด ปรสิตสุดสยองทุกชนิดที่แพร่กระจายซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเสื้อผ้าของทหารที่ไม่ได้ซักมาเป็นแรมเดือน
สำหรับกลิ่นสาบที่ปล่อยออกมาจากสนามเพลาะนั้น เป็นกลิ่นที่ยากจะบรรยาย ทั้งกลิ่นก๊าซพิษที่ลอยเอื่อยเฉื่อย ปกคลุมอยู่ในอากาศ กลิ่นโคลนผสมกลิ่นของเสียจากห้องสุขา ฯลฯ แต่กลิ่นที่มนุษย์ทั้งหลายไม่อยากสูดดม แม้เทียบกับกลิ่นมรณะของก๊าซพิษ คือกลิ่นเหม็นเน่าของซากศพมนุษย์จำนวนนับพัน ที่ยังคงกระจัดกระจายอยู่ใน ‘เขตปลอดคน’