ผลงานส่วนหนึ่งของนายอนันต์ วัฒนานิกร

อนันต์ วัฒนานิกร นักประวัติศาสตร์ชายแดนใต้


นายอนันต์ เป็นบุคคลที่คนทั่วไปยอมรับว่า มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรม ตลอดจน ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมภาคใต้ มีผลงานเขียนในเรื่องที่เชี่ยวชาญเผยแพร่ทั่วไปตั้งแต่พ.ศ.2517 อาทิ ในวารสารรูสะมิแล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวารสารเมืองโบราณ ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และในวารสารศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากการเขียนบทความลงในวารสารแล้ว นายอนันต์ ยังมีผลงานที่อยู่ในลักษณะรวมเล่มเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น ‘เรื่องแลหลังเมืองตานี’ ซึ่งรวมบทความเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ประวัติศาสตร์ โบราณคดีของท้องถิ่นสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดพิมพ์โดย ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อปีพ.ศ. 2518

หนังสือที่ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของนายอนันต์คือเรื่อง ‘ประวัติเมืองลังกาสุกะเมืองปัตตานี’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนและบ้านเมืองในยุคแรกของแหลมไทย-มลายู การศึกษาค้นคว้าประวัติเมืองลังกาสุกะ-เมืองปัตตานีของนายอนันต์นั้น เริ่มจากการได้ข้อมูลจากญาติผู้ใหญ่ ก่อนไปรับราชการที่อำเภอยะรัง ประกอบกับเมื่อออกตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่างๆในอำเภอยะรังได้พบซากโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆที่บางชิ้นต่อมาภายหลังทราบว่ามีอายุไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่11-12 จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจศึกษา ค้นคว้า อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และยังชักชวนเพื่อนครูในท้องที่ให้ร่วมศึกษาด้วย

นายอนันต์ศึกษาเรื่องนี้อยู่นานถึงยี่สิบปีระหว่างพ.ศ.2498-2518 จนสรุปได้ว่าบริเวณเมืองโบราณในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ในอดีตน่าจะเป็นศูนย์กลางที่ตั้งเมืองลังกาสุกะ เขาได้ตีพิมพ์ผลจากการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์/ตีความในเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปเล่มเมื่อปีพ.ศ.2531

นอกจากนั้นเขายังได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘ประวัติเมืองหนองจิกและวัดมุจลินทวาปีวิหาร’ ซึ่งทางวัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อพ.ศ.2536 และหนังสืออนุสรณ์‘งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชพุทธิรังษี(หลวงพ่อดำ นนฺทิโย)’เมื่อพ.ศ.2540 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับร่องรอยพระพุทธศาสนาในเมืองปัตตานี

นายอนันต์ วัฒนานิกร เป็นกรรมการที่ปรึกษาของ ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่พ.ศ.2525เป็นต้นมา ผลงานที่โดดเด่นก็คือ จัดหาเอกสารภาษาไทย-มลายูเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตำนานเมืองปัตตานีสองฉบับ ให้กับศูนย์ฯ ได้แก่ เรื่อง ‘สยาเราะห์เกอรจาอันมลายูปัตตานี’(ตำนานเมืองปัตตานีเขียนโดยนายอิบราฮิม ซุกรี) ซึ่งทางศูนย์ฯได้พิมพ์เผยแพร่แล้วเมื่อพ.ศ.2525 และ เรื่อง ‘ตำนานเมืองไทรบุรี–ปัตตานี’ ฉบับพระศรีบุรีรัฐ รวบรวม

นอกจากนั้น นายอนันต์ ยังได้มอบโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมได้ ให้เป็นสมบัติของวัด และศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้หลายแห่ง ผลงานของนายอนันต์ทำให้ได้รับประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน อาทิ ได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปีพ.ศ.2528 โล่เกียรติยศจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2528 เกียรติบัตรจากจังหวัดปัตตานีสาขาวรรณกรรม เมื่อพ.ศ.2540 และโล่เกียรติคุณจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ.2541 [i]

การได้รับประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงานระดับชาติเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิความรู้ของนายอนันต์เป็นอย่างดี แต่เมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังด้านการศึกษาขอ นายอนันต์ กลับไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อยืนยันชัดแจ้งว่าบุคคลผู้นี้มีความใฝ่รู้ มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายที่ ‘ความรู้’ ไม่ใช่ ‘ใบปริญญา’ ซึ่งถือเป็นหลักคิด ที่คนรุ่นหลังควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

[i] ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ http://www.kananurak.com