ขนซุงโดยรถไฟเล็กที่ป่าแม่ลี้


สำหรับการทำไม้ในบริเวณลุ่มน้ำแม่ลี้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ไม้สักต้นแห้งที่ถูกตัดจากป่าแม่ลี้จะล่องมาตามลำน้ำลี้เพื่อลอยลงสู่แม่น้ำปิงที่สบลี้ ก่อนที่จะลอยต่อไปยังเมืองระแหง(หรือตาก) เพื่อนำมารวมเป็นแพล่องสู่ปากน้ำโพและเข้าสู่โรงเลื่อยที่กรุงเทพฯในที่สุด แต่ในช่วงนั้นวิธีการเช่นว่านี้ ที่ทำต่อเนื่องมานับยี่สิบปีเกิดมีปัญหา คือมีท่อนซุงตกค้างตามหาดทรายของลำน้ำลี้ โดยไม่สามารถลอยออกไปสู่แม่น้ำปิงได้เป็นจำนวนมาก บางท่อนตกค้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือกว่าสิบปีจนเริ่มผุพัง

จากการเช็คสต๊อกท่อนซุงตามแม่น้ำลี้ในปี พ.ศ.2468 พบว่ามีท่อนซุงนอนนิ่งค้างเติ่งตามเนินทรายของแม่น้ำลี้ และลำน้ำสาขาจำนวนถึง 54,564 ท่อน สาเหตุสำคัญที่ท่อนซุงติดค้างจำนวนมากเนื่องมาจากระยะห่างจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำลี้ บริเวณตั้งแต่บ้านทุ่งม่านไปถึงวัดท่าช้าง ยาวประมาณ 26 กิโลเมตรขยายกว้างขึ้นเฉลี่ยเป็น 320 เมตรในช่วงปีหลังๆ เป็นผลให้พื้นที่ป่าเขาที่รับน้ำฝนของแม่น้ำลี้ ไม่กว้างใหญ่เพียงพอจะป้อนปริมาณน้ำฝนลงในแม่น้ำลี้ในช่วงนี้ ให้มีความลึกมากพอที่จะลอยซุงท่อนมหึมา เส้นผ่าศูนย์กลางกว่าหนึ่งเมตรเหล่านี้ไปได้

บริษัทบอมเบย์ฯ สมัยที่ มร.คิวริเปอล์ (Queripel) ยังเป็นผู้จัดการที่เชียงใหม่ ได้พยายามแก้ปัญหาโดยใช้เกวียนเทียมควายขนถ่ายท่อนซุงจากฝั่งแม่น้ำลี้ในบริเวณนี้ ข้ามมายังฝั่งแม่น้ำปิงในปี พ.ศ.2468 แต่ขนถ่ายได้ไม่ถึงเก้าร้อยท่อนเพราะระยะไกล หากจะใช้วิธีซ่อมแซมปรับปรุงร่องน้ำที่ยาวถึง 26 กิโลเมตรก็ต้องใช้แรงงานและช้างจำนวนมาก อาจใช้เวลาอย่างต่ำสี่ห้าปีกว่าจะส่งท่อนซุงที่ติดค้างออกไปได้หมด ดังนั้นความรับผิดชอบแก้ไขเรื่องนี้ทั้งหมดขณะนั้นต้องตกไปอยู่ในมือของนายห้างป่าไม้วัยกลางคนที่ชื่อ เคนเนธ เกรเอม เกิร์ดเนอร์ (Kenneth Graeme Gairdner)[i] ที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบวางรางรถไฟเพื่อขนซุงไม้สักจากฝั่งน้ำแม่ลี้ข้ามมาส่งลอยแม่น้ำปิง

ดังนั้นเมื่อเริ่มเข้าหน้าหนาว ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2469 ทีมนักสำรวจเส้นทางนำโดย เกิร์ดเนอร์ จึงเข้ามาสำรวจทำแผนที่รายละเอียด หลังจากที่ เกิร์ดเนอร์ ทำการสำรวจเสร็จสิ้นเส้นทางรถไฟสายหลักจึงถูกกำหนดให้วิ่งจากต้นทาง บริเวณแยกหอนาฬิกาอำเภอบ้านโฮ่งในปัจจุบัน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านหลังดอยหลังถ้ำ อ้อมไปลงแม่น้ำปิงที่บ้านท่าหลุกใต้บ้านวังปานดังปรากฏในภาพ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายนี้คือ ทางหลวงหมายเลข 3004 และ 6034

หลังจากได้เส้นทางเดินรถไฟแล้ว เขาก็ทำการวางรางตั้งแต่เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2471 จนติดตั้งสวิทช์ต่างๆ แล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยรวมเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร ทั้งรางรถไฟสายหลักยาว 24 กิโลเมตรและสายคู่ขนานบางช่วง ตลอดจนรางรถไฟชั่วคราวที่เชื่อมต่อกับรางสายหลัก เพื่อนำเข้าสู่บริเวณที่รวมหมอนของท่อนซุง ตามเนินทรายของแม่น้ำลี้ และตามทุ่งนา