เหตุสลดที่สถานีทำแพสวรรคโลก

ขณะที่นายเกียรติย้ายไปอำเภองาวในปีพ.ศ.2483 นั้น มร.อี จี เอส ฮาร์ตเล่ย์(E G S Hartley) ที่เคยเป็นหัวหน้าอยู่ที่เมืองปงสมัยที่เขาเริ่มเข้าทำงานที่นั่น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการป่าไม้ดูแลการทำป่าไม้ในสยาม แต่ต่อมาไม่นานในวันที่ 9 ธันวาคมพ.ศ.2484 เขาก็ต้องหนีเข้าพม่าพร้อมกับ มร.สแตนเล่ย์ คินเดอร์ (Stanley Kinder) เนื่องจากญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม นายฮาร์ตเล่ย์ ถูกส่งกลับเข้ามา เป็นผู้อำนวยการบริษัทแองโกลไทยในต้นปี พ.ศ. 2489 และบริษัทฯยังได้แต่งตั้งให้นายเกียรติ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันต่อมาอีกสิบปีจนถึงปี พ.ศ. 2499 ปีสุดท้าย ก่อนที่บริษัทฯจะเลิกกิจการป่าไม้ในเมืองไทย เพราะหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ซึ่ง มร.ฮาร์ตเลย์ ภรรยา และลูกๆ จึงตระเตรียมจะกลับบ้านกัน แต่ก็กลับเกิดเรื่องที่น่าสลดใจขึ้น

โดยภาระหน้าที่ในฐานะผู้จัดการป่าไม้ มร. ฮาร์ตเล่ย์ จึงไม่ได้อยู่ประจำที่บ้านพักอำเภองาวตลอดเวลา แต่จำเป็นต้องเดินทางไปตรวจงานที่สถานีป่าไม้ต่างๆ เป็นครั้งคราว ซึ่งปกติก็ไม่ได้นำภรรยา และบุตรทั้งสองไปด้วย หนึ่งในสถานีที่ต้องไปตรวจสม่ำเสมอ คือสถานีทำแพของบริษัทฯ ที่เมืองสวรรคโลก แต่ก็แปลกที่ารไปตรวจงานที่สวรรคโลก ในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2499 เขาได้นำภรรยาไปด้วย โดยไปพักที่บ้านพักของสถานีฯ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม

คนยืนคือนายเกียรติ และ มร. ฮาร์ตเล่ย์ นั่งหน้า มร. ฮาร์ตเล่ย์ คือ เมอร์รี ภรรยาของเขา นั่งกลางคือ มร. แอทคินส์ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของ บ.แองโกลสยามสมัยที่นายเกียรติสมัครเข้าทำงาน นั่งซ้ายสุดคือ มอลลี ภรรยาของ มร. คินเดอร์ ณ บริเวณสนามเทนนิสในสำนักงานฯ ใกล้แม่น้ำงาว ภาพถ่ายช่วงปี พ.ศ. 2490-2495 (เอื้อเฟื้อภาพจาก Alan Hartley)

บ้านพัก มร. ฮาร์คเล่ย์ ที่สถานีป่าไม้ของบริษัทแองโกลไทยที่อำเภองาวในสมัยนั้น (อยู่เลยบริเวณ 'หอประชุมคุณธรรม'ภายในโรงเรียนภาณุนิยมในปัจจุบัน ไปทางทิศเหนือเล็กน้อย แต่บ้านหลังนี้ถูกรื้อไปราวห้าหกสิบปีแล้ว)

สะพานส่งท่อนซุงลงแม่น้ำงาว ก่อนไหลไปลงแม่น้ำยมสู่สถานีทำแพของบริษัทแองโกลไทย ที่สวรรคโลก (เอื้อเฟื้อภาพจาก Alan Hartley)

มิสซิส เมอร์รี ฮาร์ตเล่ย์ กับแคลร์ และ อัลแลน ลูกสาวและลูกชาย ภาพถ่ายช่วงปี พ.ศ. 2497สองปีก่อนที่สามีจะถูกยิงตายที่สวรรคโลก

แคลร์กับผู้เขียนเมื่อมกราคม พ.ศ. 2562 ในบริเวณที่เคยวิ่งเล่นด้วยกันสมัยเด็กๆบนสนามหญ้าในบริเวณสถานีป่าไม้งาว หน้าบ้านพัก มร. ฮาร์ตเล่ย์ ข้างสำนักงานของบริษัทแองโกลไทย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนภาณุนิยม งาว

บ้านพักที่สวรรคโลกแห่งนี้ เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นสำนักงาน ส่วนชั้นบนจัดเป็นที่พัก มีห้องนั่งเล่น ห้องนอนพร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบครัน ภายในบริเวณสถานีทำแพแห่งนี้ ยังมีอาคารที่พักคนงานอีกสองสามหลัง พร้อมคลังวัสดุที่ใช้เก็บเครื่องไม้เครื่องมือ และวัสดุต่างๆ ที่ใช้สำหรับทำแพไม้ซุง ห่างจากบ้านพักและอาคารเหล่านี้ไม่มากนัก เป็นริมฝั่งแม่น้ำยมซึ่งอยู่ภายในบริเวณสถานีเช่นกัน สถานีทำแพแห่งนี้อยู่ห่างออกมาจากหมู่บ้านไกลพอสมควร โดยล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบปกคลุมด้วยหญ้าช้างขึ้นสูงท่วมหัว

กลางดึกคืนหนึ่งของวันที่่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2499 มร.ฮาร์ตเล่ย์ ถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงแปลกๆ บริเวณชั้นล่างของอาคารที่พักซึ่งใช้เป็นสำนักงาน เขาจึงลุกขึ้นพาให้ภรรยาตื่นขึ้นมาด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงนั้นเกิดจากอะไรเขาจึงเปิดประตูห้องนอน เดินผ่านห้องนั่งเล่นลงบันไดมายังชั้นล่าง เมื่อลงมาถึงกลางบันไดทำให้มองเห็นภายในบริเวณห้องชั้นล่าง ซึ่งคงทำให้เขาใจหายวาบ

ในนั้นมีเงาตะคุ่มของคนสามสี่คน กำลังรื้อค้นสิ่งของกระจุยกระจาย ด้วยความเป็นห่วงภรรยา เขาจึงตะโกนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษให้ภรรยาใส่กลอนประตูห้องนอน แต่ยังไม่ทันสิ้นเสียงตะโกนก็แทรกขึ้นด้วยเสียง ปัง! ปัง! ปัง! หลายนัดทำให้เขาทรุดลงกลางบันไดทันที จากนั้น มิสซิสฮาร์ตเล่ย์ ต้องผวาสุดชีวิต เมื่อเธอได้ยินเสียงสามีร้องด้วยความเจ็บปวด พร้อมๆกับเสียงวิ่งขึ้นบันไดมาชั้นบน ทำให้เธอต้องรีบวิ่งไปแทรกตัวอยู่ที่มุมห้องนอน ด้วยความหวาดกลัว แต่ก็ไม่วายถูกตีล้มลง เมื่อคนร้ายผลักประตูเข้ามาในห้องนอน

คนร้ายกลุ่มนี้ได้รื้อค้นข้าวของ ทั้งบนโต๊ะ ในลิ้นชัก และตู้เสื้อผ้าอย่างรีบเร่ง โดยเก็บสิ่งของทุกชิ้นที่พวกเขา ‘คิดว่า’ มีค่า แม้กระทั่งแท่งลิปสติกเคลือบสีทองของเธอ หลังจากนั้นคนร้ายทั้งหมดก็วิ่งลงบันได หลบหนีไปในความมืด สำหรับคนงานและกุลีของบริษัทแม้ได้ยินเสียงที่น่าขนลุกเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าพอที่จะออกมาขัดขวาง หรือติดตามกลุ่มโจรออกไป หรือไม่กล้าแม้กระทั่ง เดินทางไปแจ้งความกับตำรวจในคืนนั้น เพราะเกรงอันตรายจากคนร้ายที่อาจซุ่มอยู่ในป่าหญ้ารกชัฏรอบสถานี

เมื่อกลุ่มโจรล่าถอยไปแล้ว มิสซิสฮาร์ตเล่ย์ จึงได้ตะโกนเรียกบรรดาคนงานให้เข้ามาช่วยหาม มร.ฮาร์ตเล่ย์ ขึ้นไปบนชั้นสองเพื่อปฐมพยาบาล แต่ก็สายไปเสียแล้ว ต่อมาเมื่อนายเกียรติทราบเรื่อง เขาจึงรีบตามลงไปที่สวรรคโลกในวันรุ่งขึ้น เพื่อช่วยจัดการในเรื่องคดีและดูแลมิสซิสฮาร์ตเล่ย์ ตลอดจนจัดการกับศพ เรื่องนี้ทำให้นายเกียรติหดหู่มาก ทั้งนี้เพราะเคยร่วมงานกับมร.ฮาร์ตเล่ย์ มานานกว่ายี่สิบปี ตั้งแต่สมัยอยู่เมืองปง

คนร้ายกลุ่มนี้ต่อมาถูกจับได้ และตัวหัวหน้าที่เป็นคนลงมือสังหารมร.ฮาร์ตเล่ย์ ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ส่วนคนร้ายที่เหลือถูกจำคุกซึ่งต่อมาไม่นานก็เป็นอิสระ แต่สำหรับมิสซิสเมอร์รี ฮาร์ตเล่ย์ เธอต้องกลับอังกฤษโดยลำพังเพื่อเลี้ยงดูแคลร์(Clare) และ อัลแลน(Alan) ลูกสองคนที่ต้องกำพร้าพ่อไปจนตลอดชีวิต ทั้งที่ครอบครัวนี้กำลังจะกลับบ้านไปอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกอยู่แล้ว สำหรับร่างของมร.ฮาร์ตเล่ย์ นั้น ต่อมาภายหลังถูกนำมาฝังที่สุสานฝรั่งเชียงใหม่

หลังจากเหตุการณ์น่าสลดใจที่ริมแม่น้ำยมเมืองสวรรคโลกในคร้งนั้น ซึ่งทำให้มิสซิสฮาร์ตเล่ย์ ต้องกลับไปอังกฤษด้วยความซึมเศร้าสลดหดหู่ต่อมาอีกนาน ภายหลังเธอจึงแต่งงานใหม่กับมร.ฮัสซีย์และใช้ชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอน ช่วงที่มีชีวิตเธอยังคงติดต่อกับนายเกียรติ เสมอมาเป็นประจำทุกๆ ปี จนนายเกียรติเสียชีวิตไปเมื่อปี พ.. 2534 ซึ่งแสดงถึงมิตรภาพระหว่างนายห้างป่าไม้และครอบครัว ที่เคยร่วมทุกข์ ร่วมสุข ด้วยกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ส่วนหนึ่งของจดหมายที่แสดงในรูป เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายจาก นายเกียรติ ที่มีไปถึง มิสซิสฮัสซีย์ (ฮาร์ตเล่ย์) ก่อนเขาเสียชีวิตไม่นาน จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นฉบับที่่มิสซิสฮัสซีย์ (ฮาร์ตเล่ย์) เก็บรักษาไว้จนเธอเองเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2557 ซึ่ง อัลแลน (Alan) ลูกชายของเธอ ส่งมาให้ผู้เขียนเมื่อไม่นานามานี้

มร. ฮาร์ตเล่ย์ (ขวาสุด) ที่สถานีทำแพสวรรคโลก ก่อนถูกคนร้ายยิงตายไม่นาน (เอื้อเฟื้อภาพจาก Alan Hartley)

ส่วนหนึ่งของจดหมายจากนายเกียรติ ถึง มิสซิสฮัสซี (ฮาร์ตเล่ย์)เมื่อ พ.ศ. 2533 เล่าถึงบรรยากาสเก่าๆ สมัยพำนักในสถานีป่าไม้งาวด้วยกันตั้งแต่ มร. ฮาร์ตเล่ย์ พาเธอมาอยู่งาวหลังแต่งงาน เป็นเวลาร่วมสิบปี