บุตรทั้งห้าของนายลั้วลุกจากบน จ่องเกี้ยว(คณานุรักษ์) บุญเสี้ยน(แซ่ลั้ว -วัฒนานิกร) สิ้นเกี้ยว(อร่ามรัตน์) เอ่งเกี้ยว(ณ ระนอง) หยุกเกี้ยว(สุวรรณมงคล) (เรียงตามปีเกิดยกเว้นสองคนสุดท้ายหยุกเกี้ยวเป็นพี่เอ่งเกี้ยว)

นายลั้วลุก แซ่ลั้ว ลูกเขยนาจ๊าบ ต้นสกุลวัฒนานิกร


นายลั้วลุก แซ่ลั้ว (หรือ แซ่ไหร่ ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน) เป็นชาวจีนไม่ทราบปีเกิดและสถานที่เกิด แต่น่าจะมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2370-2440 ในช่วงการครองราชย์ของรัชกาลที่สามถึงรัชกาลที่ห้า นายลั้วลุก มีอาชีพเป็นพ่อค้าในตลาดจีนปัตตานี ต่อมาได้แต่งงานกับ นางกิ่มอิม ลูกคนที่สองของ ขุนด่านจ๊าบ โดย นายลั้วลุก ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับพ่อตา ดังแสดงในภาพแผนที่ตลาดจีนราวช่วงปี พ.ศ. 2450-2460 ในหัวข้อก่อนหน้านี้

ในภาพมีตำแหน่งบ้าน ขุนด่านจ๊าบ บ้าน นายลั้วลุก และบ้านของลูกทั้งห้าคนของ นายลั้วลุก โดยตรงข้ามถนนเยื้องกับบ้าน นายลั้วลุก คือบ้านของ พระจีนคณานุรักษ์ บุตรชายของ หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง และบ้าน นางจ่องเกี่ยว ลูกสาว นายลั้วลุก ที่แต่งงานกับ นายจู้เซียน น้องชายของ พระจีนฯ ซึ่งเป็นบ้านที่ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสี ทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์ ‘ชีวิวัฒน์’ เมื่อพ.ศ. 2427 ขณะเสด็จเยือนปัตตานีความว่า:


“ที่ปากคลอง (ปากแม่น้ำตานี) กว้างประมาณ ๒ เส้นเศษ น้ำลึกประมาณ ๖-๗ ศอก ระยะทางตั้งแต่ปากคลอง เข้าไปถึงเมืองทางประมาณ ๖๐ เส้น ที่หน้าเมืองลำคลองกว้างประมาณ ๒ เส้นเศษ ตัวเมืองตั้งลำน้ำฝั่งตวันออก มีตึกกัปตันจีนอยู่ริมน้ำหลังหนึ่งเปนตึกจีน ๒ ชั้นหันหน้าไปตวันออก แลมีบ้านโรงเรือนหลังคาจากสาคู ฝาขัดแตะด้วยไม้บงอยู่ตามริมน้ำประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน หน้าตึกกัปตันจีนริมน้ำมีถนนสัก ๒ เส้น มีตลาดขายผ้าแขกแลผลไม้ ๔-๕ ร้าน

ที่ปลายถนนด้านเหนือ มีตึกใหม่ของกัปตันจีนเปนเรือนจีน ๒ ชั้น ๓ หลังแฝด หลังหนึ่งขื่อประมาณ ๑๐ ศอกมีเฉลียงหน้าหลัง มีประตูใหญ่สกัดที่มุมบ้าน เดินเข้าประตูไปเปนถนนกว้างประมาณ ๔ วา สองฟากถนนมีตึกจีนชั้นเดียวตั้งค้าขายสินค้ารายเรียง สลับกับโรงจากตลอดไปตามถนนประมาณ ๓ เส้น ฟากถนนด้านเหนือที่สุด มีศาลเทพารักษ์จีนชื่อว่าปุนเถ้าก๋ง เปนตึกเก๋งจีนใหญ่ในจังหวัด ท้องตลาดในประตูนี้ เรียกว่าท้องตลาดจีน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบันทึกของ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสี เมื่อพ.ศ. 2427 ยังคงเรียกศาลเจ้าเก่าแก่แห่งนี้ที่สร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2117 ว่า ‘ศาลปุนเถ้าก๋ง’ ไม่เรียกว่า ‘ศาลเจ้าซูกง’ หรือ ‘ศาลเจ้าเล่งจูเกียง’ หรือ ‘ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ แตกต่างจากบันทึกของ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ที่ทรงบันทึกเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า เสด็จประพาสตลาดจีนเมื่อพ.ศ. 2444 ที่ระบุชื่อศาลเจ้านี้ว่า ‘ศาลเจ้าซูกง’ นั่นอาจแสดงว่าในปี พ.ศ. 2427 น่าจะยังไม่มีทั้งรูปแกะสลักไม้ ‘พระหมอหรือโจ๊วซูกง’ และรูปแกะสลักไม้ ‘เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ หรือถ้ามีก็พึ่งนำมาประดิษฐาน จึงยังไม่เป็นที่เรียกขานทั่วไป

ข้อสันนิษฐานนี้ สอดคล้องกับข้อมูลประวัติตระกูลคณานุรักษ์ที่ระบุว่า พระจีนคณานุรักษ์ เป็นผู้อัญเชิญพระหมอมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ ก่อนที่จะอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานตามมาในภายหลัง โดยที่ พระจีนคณานุรักษ์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2390-2462[i]

นายลั่วลุก และ นางกิ่มอิม มีบุตรด้วยกันห้าคน บุตรหญิงแต่งงานเข้าไปสู่สกุล คณานุรักษ์ อร่ามรัตน์ สุวรรณมงคล และ ณ ระนอง ต่อมามีทายาทที่มีชื่อเสียงในวงการ อาทิ นายเจริญ สุวรรณมงคล ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ เป็นต้น ส่วนบุตรชายคนเดียวคือ นายบุญเสี้ยน ยึดอาชีพค้าขายในปัตตานีเช่นเดียวกับบิดา

สำหรับ นายลั้วลุก ถือเป็นต้นสกุล ‘วัฒนานิกร’ เพราะต่อมาหลานชายผู้เป็นบุตรชายของ นายบุญเสี้ยน ได้รับพระราชทานนามสกุลดังกล่าว จากล้นเกล้ารัชกาลที่หกขณะเสด็จเยือนปัตตานี เมื่อนายลั้วลุกเสียชีวิตบุตรหลานได้นำศพไปฝังไว้นอกเมืองปัตตานีก่อนถึงมัสยิดกรือเซะ ริมทางหลวงเอเชียสายสิบแปดในปัจจุบัน ที่แห่งนั้นจึงกลายมาเป็น 'ฮวงซุ้ย' ของ 'ตระกูลวัฒนานิกร' มาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งอยู่ติดกับฮวงซุ้ยตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ สุวรรณมงคล และตระกูลพันธ์พฤกษ์

[i] http://www.kananurak.com และ อนันต์ วัฒนานิกร ประวัติเมืองลังกาสุกะ เมืองปัตตานีโรงพิมพ์มิตรสยาม พ.ศ. 2531

บ้านเก่านายลั้วลุกที่ถนนอาเนาะรู

บ้านสามหลังแฝดในพระนิพนธ์ ‘ชีวิวัฒน์’ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงหลังเดียวที่เห็นทาสีเขียว-สีครีม บ้านนี้ปัจจุบันอายุร่วม 140 ปีแล้ว และเคยเป็นบ้านของนายจู้เซียน ลูกเขยนายลั้วลุก

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัจจุบัน