วีรกรรมมาโนชและมานิช ขณะญี่ปุ่นบุกปัตตานี


ย้อนไปในวันเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ส่งฝูงบินเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกาแบบสายฟ้าแลบ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงในเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทยกองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้าไทยพร้อมกัน โดยทางบกบุกเข้าที่อรัญประเทและทางทะเลเข้าที่จังหวัด สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

สำหรับเหตุการณ์เช้าวันนั้น ในจังหวัดปัตตานีนายอนันต์ คณานุรักษ์ และนายอนันต์ วัฒนานิกร ได้นำมาเขียนเป็นบทความไว้ในภายหลัง โดยระบุว่าทหารญี่ปุ่นบุกเข้าทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปัตตานี ทางฝั่งตะวันตกมีการปะทะกันก่อนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยฝ่ายละหลายสิบนาย สำหรับฝั่งตะวันออกทหารญี่ปุ่นบุกมาตามถนนนาเกลือ โดยมีชาวบ้านและตำรวจช่วยกันต้านทานไว้

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีบางช่วงบางตอนที่พี่น้องตระกูล ‘วัฒนานิกร’ ทั้ง มาโนช(เกี่ยนซิ่ว) ที่ขณะนั้นเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงน้ำแข็ง และ มานิ(เกี่ยนหงวน) น้องชายซึ่งเป็นนายช่างยนต์ ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง นายอนันต์ คณานุรักษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคมไว้ดังนี้

“รุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในช่วงเวลาประมาณ ๔.๐๐ น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านที่ตั้งของจังหวัด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปัตตานี มีทั้งเสียงปืนเล็ก ปืนกล ปืนใหญ่เบา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คงจะเป็นการซ้อมรบของทหารบ่อทอง ร. พัน ๔๒ แต่แล้วมีคนมาร้องเรียกที่หน้าประตูบ้านบอกว่า ญี่ปุ่นมาแล้ว....ต่อมาก็เห็นนายมานิตย์ (เค่งฮ่วน) วัฒนานิกร เดินถือปืนมาที่หน้าบ้าน ข้าพเจ้าก็แนะนำให้เขารีบไปสมทบที่กองตำรวจ” [i]

จากนั้น นายมานิจึงวิ่งต่อไปยังกองกำกับการตำรวจประจำจังหวัด ซึ่งมีนาวาเอกหลวงสุนาวินวิวัฒน์ข้าหลวง เป็นผู้อำนวยการ ที่นั่นนอกจากนายมานิ ซึ่งเพื่อนๆมักเรียกว่า ‘หมอ’ (ไม่ใช่หมอรักษาคนไข้! แต่เป็นหมอรักษาเครื่องยนต์ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร เครื่องยนต์ ที่หาตัวจับยาก) ยังมีนายบุญฮก มุ่งแสง นายจ่าย และนายเกษม ทรัพย์เกษม ผู้มีเลือดไทยภาคกลางคนเดียวในกลุ่ม รวมถึงตำรวจ ข้าราชการ และยุวชนทหารกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวตั้งใจสู้รบป้องกันเมืองปัตตานี

ขณะนั้นทหารญี่ปุ่นได้ขึ้นฝั่งตะวันออกมาตามถนนนาเกลือในปัจจุบัน เพื่อหวังโอบล้อมตัวเมืองปัตตานี ในสมัยนั้นบริเวณนี้ยังคงเป็นทุ่งนาและสวนมะพร้าว ไม่มีถนนหนทางใดๆมีเพียงโรงฆ่าสัตว์หลังหนึ่ง ตรงข้ามโรงฆ่าสัตว์เป็นสถานที่ใช้ประหารชีวิตนักโทษ์ (ซึ่งต่อมากลายเป็นวัดนิกรชนาราม) จากบริเวณลานประหาร มีถนนมุ่งตรงไปหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

บริเวณหลังศาลเจ้านี้เอง ที่อาเนาะปัตตานีกลุ่มหนึ่งรวมทั้งนายมานิ นายเกษม นายจ่าย และนายบุญฮก ได้ยึดเป็นสมรภูมิสู้กับกองทหารญี่ปุ่น โดยรับอาวุธและกระสุนจากกองอำนวยการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม จากร้านขายปืนในตัวจังหวัดปัตตานี นายอนันต์ วัฒนานิกรได้เขียนบรรยายเหตุการณ์ในช่วงนั้นจากคำบอกเล่าของ นายเกษม ทรัพย์เกษมไว้ดังนี้

[i} ประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญเมืองปัตตานี http://www.kananurak.com

แผนที่ช่วงญี่ปุ่นบุกปัตตานี แสดงสองฝั่งแม่น้ำตานี สำหรับบริเวณที่ปะทะกันในฝั่งตะวันออกอยู่แถวถนนนาเกลือ เหนือศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวขึ้นไป (ในภาพแสดงโรงน้ำแข็งของนายมาโนชติดแม่น้ำตานี บ้านของนายอนันต์ คณานุรักษ์ บนถนนอาเนาะรู และบ้านนายมานิช วัฒนานิกร บนถนนปัตตานีภิรมย์)

ภาพถ่ายช่วง 16-26 ธค. 2484 เมื่อคณะผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปดูสภาพตลาดจีนและเยี่ยมเยือนราษฎร นายมาโนชคือคนใส่กางเกงขาสั้นสีกากี ผู้ชายสูทขาวคือ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ข้าหลวงปัตตานี คนใส่กางเกงขาสั้นสีดำคือ นายเจริญลาภ เลาหะวณิชย์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูลจากนายแพทย์ปานเทพ คณานุรักษ์) ภาพนี้ถ่ายข้างโรงน้ำแข็งของนายมาโนช มองตรงไปตือถนนปัตตานีภิรมย์

“พวกผมวิ่งลัดเลาะคันคูน้ำร่องสวนมะพร้าวข้างๆ ศาลเจ้าแม่เข้าไป โดยอาศัยลำต้นมะพร้าว เป็นป้อมกำบังตัว ใกล้ๆ ถนนนาเกลือในปัจจุบันเห็นทหารญี่ปุ่นหมู่หนึ่ง เดินท่องโคลนเลนเข้ามา พวกเราจึงส่งสัญญาณ ลั่นกระสุนเข้าใส่พวกมันทันที ปัง ปัง ปัง ปัง ยังผลให้หมู่ทหารเหล่านั้นแตกกระจายกันออกไป บ้างก็ล้มนอนราบอยู่ในท่าเตรียมยิงตามยุทธวิธีที่พวกมันฝึกฝนกันมา

หนึ่งในทหารกองนี้ ถูกยิงล้มลง มันร้องเสียงดังเหมือนวัว เพื่อนทหารที่หลบตัวนอนอยู่ในคูเอาเชือกคล้องเท้าทหารผู้บาดเจ็บ ดึงเอาตัวลงไปไว้ในคูคันดิน จ่าย..มันอยู่ข้างหลังผม มันได้ ‘เมาเซอร์’ มาจากไหนไม่ทราบ มันสาดกระสุนเฉียดเส้นผมไปหน่อยเดียว เสียงดังเหมือนกะพลุแตก ผมตกใจแทบตายเพราะไอ้นี่เรารู้จักกันแล้วว่ามันยิงปืนไม่เป็น แต่มันก็เสือกมายิงกับเขาด้วยจนได้ กว่าพวกมันจะจับทางปืนของพวกเราได้ พวกเราก็เก็บมันเสีย ๓-๔ คน

จากนั้น มันก็กระหน่ำกระสุนเข้าหาพวกเราบ้าง ถูกลำต้นมะพร้าวที่พวกเรากำลังหมอบอิงอยู่สั่นสะเทือน เสียงกระสุนถูกใบต้นปรงพุ่มไม้ข้างๆ ที่พวกเราหมอบอิงอยู่ดังกราวใหญ่ สักครู่ได้ยินเสียง ‘เกษม.. อั้วถูกยิงแล้ว’ เสียงของ หมอ หรือ มานิต วัฒนานิกร ซึ่งอยู่ห่างกันคนละคันคูร่องสวนมะพร้าว ‘แต่ไม่เป็นไร อั้วพอทนได้ มันถูกแค่หัวไหล่ พวกลื้อยิงมันเข้าไป’ หมอออกคำสั่งให้เราสู้ต่อไป

ขณะที่กระสุนซึ่งพวกเราได้รับมาจากร้านในจำนวนจำกัด ใกล้จะหมดลง พวกเราก็ได้ยินเสียงของ บุญฮก มุ่งแสง อีกคน ส่งเสียงมาจากโคนต้นมะพร้าวที่เขากำลังหมอบยิงสู้กับทหารญี่ปุ่นอยู่ทางด้านข้างห่างไปราว ๕ เมตร ‘เกษม..มือกูถูกปืน ด้ามปืนแตก ยิงพวกมันไม่ได้แล้ว’ ดังนั้นพวกเราจึงพากันคลานออกกลับไปกองอำนวยการ เพื่อให้หน่วยพยาบาลช่วยรักษาแผลให้” [ii]

หลังจากรักษาบาดแผลแล้วอาเนาะกลุ่มนี้ยังคงอาสากลับไปสู้ต่อ แต่จากนั้นไม่นานมีโทรเลขจากกรุงเทพฯ สั่งให้ระงับการต้านทานทหารญี่ปุ่น ต่อมาจึงมีนายอำเภอเมืองและหมอฟันชาวญี่ปุ่น (เดิมเปิดคลินิกในตัวเมืองปัตตานี แต่ขณะนั้นกลับแต่งเครื่องแบบนายทหารญี่ปุ่นยศพันตรี!) เดินนำธงห้ามยิงมาเพื่อแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบ การสู้รบจึงยุติลงก่อนมีการเจรจากัน บริเวณสามแยกถนนนาเกลือกับถนนอาเนาะรู ตรงหน้าวัดนิกรชนารามปัจจุบัน นายอนันต์ คณานุรักษ์ เขียนเล่าเหตุการช่วงนี้ไว้ว่า

“เมื่อเสร็จทางธุระเรื่องของทหารญี่ปุ่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รีบเดินทางไปที่หน้าสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่พบกับท่านข้าหลวง (น.อ.หลวงสุนาวินวิวัฒน์, ร.น.) ซึ่งท่านได้เดินทางไปจังหวัดยะลาพร้อมกับนายมาโนช วัฒนานิกร (พี่ชายนายมานิตย์) และนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเบิกทาง และทำความเข้าใจกับกองต้านทานของจังหวัดยะลา ให้ระงับการต้านทานตามนโยบายรัฐบาล…..”

“สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดอาศัยอยู่มีมากมายดังนี้ บ้านพักแพทย์ ๓ หลัง บ้านพักอัยการ บ้านพักนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ บ้านพักหลังอำเภอ.........บ้านนายมาโนช วัฒนานิกร ๒ ห้อง และห้องเช่าของขุนพิทักษ์รายา เลยโรงน้ำแข็งมาโนช ๕ ห้อง” [iii]

จากเหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ หากสังเกตุดูจะเห็นว่า บุตรชายหลวงสกลการธานีสองท่านนี้ แสดงบทบาทที่แตกต่างกันในห้วงเวลาวิกฤตดังกล่าว คนหนึ่งดูจะเป็น ‘นักบู้’ ขณะที่อีกคนออกแนว ‘บุ๋น’ ซึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของทั้งสองท่าน

[ii] อนันต์ วัฒนานิกร, เบื้องหลังญี่ปุ่นยึดเมืองปัตตานี, วารสารศิปวัฒนธรรม 2530 หน้า 88-97

[iii] ประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญเมืองปัตตานี http://www.kananurak.com