ชีวิตสมัยเป็นเด็กที่อังกฤษ


หลังจากสามีเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2419 มิสซิส เมรี เจน ดิบบ์ ที่ขณะนั้นอายุได้ 34 ปีได้รับมรดกจากสามีเป็นมูลค่า 1,500 ปอนด์ ซึ่งสมัยวิคตอเรียนับว่าพอจัดการกับชีวิตได้ดีตามสมควร ทั้งนี้เพราะเงินไม่กี่ร้อยปอนด์ต่อปีของครอบครัวชนชั้นกลางในลอนดอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พอเพียงสำหรับการดำเนินชีวิตไปได้อย่างไม่ขัดสน สำหรับบ้านของเธอในช่วงนั้นอยู่เลขที่ 26 ถนนเกย์ตัน (Gayton) หมู่บ้านแฮมพ์สเต็ด (Hampstead) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน

เมื่อ วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ อายุได้สี่ขวบในปี พ.ศ. 2424 ซึ่งเป็นช่วงต้นการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ห้าของสยาม บ้านในลอนดอนหลังนี้มีสมาชิกอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ นอกจากมารดาของเขาแล้วยังมีพี่ชายคนโต แอชตัน วิลเบอร์ฟอร์ซ (Ashton Wilberforce) ที่ขณะนั้นอายุ 19 ปี พี่ชายคนรอง เฟรเดอริค โทมัส (Frederick Thomas) อายุ 17 ปี ส่วนพี่ชายคนถัดจากเขาที่ชื่อ ฮิวจ์ แมคนีล (Huge M’Neile) ขณะนั้นถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำชื่อ เทรนต์ คอลเลจ (Trent College) เมืองลองอีตัน (Long Eaton) มณฑลดาร์บิเชอร์(Derbyshire) (หมายเหตุ โรงเรียนนี้ต่อมาประมาณสี่สิบปีเป็นโรงเรียนที่ทั้ง ม.ร.ว เสนีย์ และ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าศึกษาเป็นนักเรียนประจำ)

นอกจากนั้นในบ้านยังมีลูกของลุง ซึ่งขณะนั้นเป็นบาทหลวงที่อินเดียมาอาศัยอยู่ด้วย (ร้อยกว่าปีต่อมาลูกพี่ลูกน้องคนนี้ของ วิลเลียม มีทายาทรุ่นหลานชื่อ วิลเลียม เคมม์ (William Kemm) ได้เป็นผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ จอห์น โทมัส (John Thomas) เทียดของเขาและของผู้เขียน) ขณะนั้นในบ้านยังมีน้าชาย ซึ่งเป็นนายตำรวจที่อินเดียมาพักอยู่ด้วยชั่วคราว โดยในบ้านนี้มีคนรับใช้อาศัยอยู่ด้วยอีกคน ลูกๆ ของ เมรี เจน เหล่านี้ทั้งหมดยกเว้น วิลเลียม เกิดและโตในอินเดีย ก่อนถูกส่งมาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำของอังกฤษ

อีกสี่ห้าปีต่อมาเมื่อ วิลเลียม อายุราวสิบขวบเขาถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่ชื่อ ชอร์น คอลเลจ (Schorne College) ในหมู่บ้านนอร์ท มาร์สตัน (North Marston) มณฑลบังกิงแฮมเชอร์ โรงเรียนนี้ตั้งอยู่บนเนินติดกับโบสถ์เซนต์เมรีที่มีประวัติย้อนไปถึงคริสต์ศตวรรศที่ 12 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ชนชั้นกลางระดับบนของอังกฤษ รวมถึงชาวต่างชาติ มักส่งบุตรหลานเข้าเรียน

เมื่อลูกชายคนเล็กเข้าโรงเรียนประจำไปแล้ว มิสซีสเมรี เจน ได้ย้ายบ้านอีกครั้งไปอยู่บ้านเลขที่ 36 ถนนคอนนอช์ท (Connaught road) วิลเลสเด็น (Willesden) เขตมิดเดิลเซ็กส์ โดยอยู่ลำพังกับลูกชายคนโต แอชตัน วิลเบอร์ฟอร์ซ และคนรับใช้ ลูกชายคนนี้ขณะนั้นเข้าศึกษาต่อด้านการศาสนาที่คิงส์ คอลเลจ และต่อมาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สำหรับลูกชายคนรองของนางที่ชื่อ เฟรเดอริค โทมัส ได้เดินทางไปแคนาดาตั้งแต่ พ.ศ. 2428 เพื่อศึกษาต่อด้านการศาสนาเช่นเดียวกับพี่ชายที่วิทยาลัยของบิชอป เล็นนอกซ์วิล์ล (Lennoxville) เมืองควิเบก แคนาดา ประเทศในอาณานิคมของอังกฤษ

เมื่อ วิลเลียม เรจินัลด์ จบชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนชอร์นคอลเลจ และเข้าพิธียืนยันการเป็นคริสต์ศาสนิกชนแล้วในปี พ.ศ. 2434 มารดาจึงส่งเขาไปหาพี่ชาย เฟรเดอริค โทมัส ดิบบ์ ที่แคนาดาซึ่งขณะนั้นจบการศึกษาแล้วและเป็นบาดหลวงอยู่ที่เมืองเออร์เนสต์ทาวน์ (Ernesttown) ออนตาริโอ โดย วิลเลียม ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ. 2435 ในชั้น ‘ซาลูน’ หรือชั้นหนึ่งของเรือ ‘เอส เอส เลค ซูพีเรีย (SS Lake Superior)’ ถึงท่าเรือเมืองมอนทรีออลของแคนาดาในวันที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2435[i]

[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561)

บ้านเทอร์เรสต์เฮาส์สไตล์วิคตอเรียที่ถนนเกย์ตันในปัจจุบันซึ่ง วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เคยอาศัยอยู่ในวัยเด็ก(หลังที่สองจากซ้ายมือ)

โรงเรียนชอร์นคอลเลจ ปัจจุบันถูกรื้อไปหมดแล้ว (http://northmarstonhistory.org.uk/NMH-9.php)

ถนนฟลีตในปีพ.ศ.2433 สมัย ดิบบ์ ยังเด็ก ที่เห็นด้านหลังคือมหาวิหารของเซนต์ปอล ด้านหลังมหาวิหารเซนต์ปอลคือด้านตะวันออกของกรุงลอนดอนที่ยากจน (ภาพถ่ายโดย James Valentine)


ชีวิตวัยรุ่นที่แคนาดาก่อนกลับมาเข้าอ๊อกซฟอร์ด


หลังจากมาถึงแคนาดาได้ไม่นาน วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ได้เข้าเป็นนักเรียนกินนอนในโรงเรียนประจำชื่อทรินิติ คอลเลจ (Trinity College) เมืองพอร์ตโฮป (Port Hope) ออนตาริโอ โดยมีพี่ชาย สาธุคุณ เฟรเดอริค โทมัส ดิบบ์ นำตัวไปส่งเข้าเรียนในปลายปี พ.ศ. 2435 ขณะที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าว วิลเลียม เป็นนักกีฬาตัวยงไม่ว่าฟุตบอล รักบี้ วิ่งวิบากระยะไกล ฯลฯ โดยเฉพาะกีฬาคริกเก็ตที่เล่นได้ดีจนได้รับรางวัลฟิลเดอร์ หรือคนรับลูกในสนามยอดเยี่ยม ในการแข่งขันระหว่างสถาบันในปี พ.ศ. 2437

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนประจำทรินิติที่ออนตาริโอในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2437 วิลเลียม ได้เดินทางกลับมาอังกฤษ แต่เมื่อมาถึงอังกฤษไม่นานเขาก็ต้องพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตที่มารดาต้องมาสิ้นชีวิตลงในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2437 ด้วยวัยเพียง 52 ปี ทำให้เขากลายไปเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ขณะอายุเพียง 18 ปี

แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ในเดือนตุลาคมของฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกันนั้น วิลเลียม ได้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดในฐานะนักศึกษาไม่สังกัดวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะหากเป็นนักศึกษาสังกัดวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก แต่ตัวเขาขณะนั้นเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อทั้งแม่ คงไม่อยู่ในสถานะที่มีเงินเพียงพอเข้าศึกษาในวิทยาลัยเหล่านั้น แต่โชคยังดีที่ช่วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดได้แก้ปัญหาให้คนที่ไม่ร่ำรวยได้เข้าศึกษา โดยรับเข้าเป็นนักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยโดยตรง แทนการรับเข้าสังกัดวิทยาลัย ซึ่งต่อมานักศึกษากลุ่มนี้ได้จัดตั้งสมาคมขึ้นมาดูแลกันเอง (ปัจจุบันการจัดการศึกษารูปแบบนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว โดยกลายมาเป็นอีกวิทยาลัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ชื่อว่า ‘วิทยาลัยของนักบุญแคทเธอรีน’ ซึ่งชื่อนักบุญนี้เดิมใช้เป็นชื่อสมาคมของนักศึกษากลุ่มที่ไม่สังกัดวิทยาลัยเหล่านี้)

ขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดในปลายชั้นปีที่สอง พ.ศ. 2439 วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ร่วมกับเพื่อนนักเรียนเก่าโรงเรียนทรินิติ คอลเลจ ที่เรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ร่วมกันอีกสามคน ได้ว่าจ้างให้จัดทำถ้วยรางวัลสูงราวหนึ่งฟุตทำด้วยเงินสเตอร์ลิงอย่างดี มีตราเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดประทับและตั้งชื่อว่า ‘อ๊อกซฟอร์ดชาลเล้นจ์คัพ (Oxford Challenge Cup)’โดยได้มอบถ้วยใบนี้ให้โรงเรียนเก่าทรินิติที่ออนตาริโอ แคนาดา ทั้งนี้เพื่อให้นำไปจัดการแข่งขันวิ่งวิบากระยะไกลชิงถ้วยดังกล่าว ทั้งนี้พวกเขาหวังว่าจะช่วยส่งเสริมกีฬาวิ่งวิบาก และสนันสนุนความแข็งแกร่ง ให้ทีมฟุตบอลของเยาวชนรุ่นหลังของโรงเรียนทรินิติคอลเลจ

วิลเลียม และเพื่อนๆ ที่ร่วมกันมอบถ้วยรางวัลนี้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าการแข่งขันชิงถ้วยรางวัลดังกล่าว ให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก่อนฤดูการแข่งขันฟุตบอล โดยเป็นการแข่งขันระหว่างทีมของหอพักหรือแฟลตของโรงเรียนที่ขณะนั้นมีสองแฟลตคือแฟลตบนและแฟลตล่าง โดยให้แต่ละแฟลตคัดนักวิ่งมาหนึ่งทีม ทีมละห้าคนรวมกัปตันทีมที่เป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อม ผู้เข้าร่วมแข่งขัน ต้องวิ่งในเส้นทางวิบากตามธรรมชาตินอกบริเวณโรงเรียน โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 4.2 ไมล์หรือ 6.76 กิโลเมตร สำหรับกติกาได้ระบุไว้ว่า ให้นำลำดับที่เข้าเส้นชัยของทั้งห้าคนในทีมมารวมกัน ทีมไหนได้ผลรวมน้อยกว่าคือผู้ชนะ

การแข่งขันชิงถ้วยใบนี้จัดขึ้นครั้งแรก ก่อนการจัดแข่งวิ่งบอสตันมาราธอนที่เป็นตำนานหนึ่งปี โดยมีเส้นทางวิ่งออกไปนอกบริเวณโรงเรียนผ่านพุ่มไม้หนาม ปีนข้ามรั้วลวดหนามของชาวไร่ชาวสวน ก่อนวิ่งกระโดดข้ามแปลงผักผลไม้ในสวนเหล่านั้น จากนั้นก็ลัดเลาะไปข้างลำห้วย แล้วย้อนกลับมาเข้าเส้นชัยในบริเวณโรงเรียน ซึ่งนับเป็นการแข่งขันที่โหดและท้าทายความทรหดอดทนของเด็กๆ วัยรุ่นสมัยนั้นมาก มีเรื่องเล่ากันว่า

“ก่อนถึงวันแข่งขันหลายสัปดาห์มักมีเสียงครวญครางจากอาการปวดระบมร่างกายของเด็กๆแว่วมาจากแฟลตบนและแฟลตล่างให้ได้ยินเสมอ”

ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องซ้อมวิ่งกันอย่างหนักหน่วงทุกวันเพื่อแย่งกันเป็นตัวแทนห้าคนของแฟลตที่ตนเองสังกัด

แต่ต่อมาห้าสิบปีให้หลังจนถึงปัจจุบันนี้ เส้นทางวิ่งได้เปลี่ยนมาอยู่ในบริเวณโรงเรียนทั้งหมดโดยลดระยะวิ่งเป็น 5 กิโลเมตร ทำให้เสน่ห์ของความวิบากในสมัยแรกๆ ลบเลือนไป ขณะเดียวกันตัวถ้วยรางวัลปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นถ้วยใบใหม่แต่ยังคงใช้ชื่อเดิม โดยมีชื่อของผู้มอบถ้วยดั้งเดิมทั้งสี่คนที่ฐานถ้วยทั้งนี้เพราะ ‘อ๊อกซฟอร์ดชาลเล้นจ์คัพถ้วยเดิมถูกไฟไหม้จนหลอมไม่เหลือเป็นถ้วยอีกต่อไปในปี พ.ศ. 2471 ขณะเกิดไฟไหม้ใหญ่ในโรงเรียน

ก่อนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดในปลายปี พ.ศ. 2440 วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ยังได้แสดงฝีมือในเกมส์กีฬาที่ต้องใช้ความทรหดอดทนอีกครั้ง ในครั้งนี้เขาชนะเลิศการแข่งขันวิ่งวิบากระยะไกล ซึ่งเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้น โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปมาร่วมประลองฝีมือ[i]

[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561)

โรงเรียนทรินิติคอลเลจในสมัยนั้น ที่มีทั้งอาคารเรียนและอาคารยิมเนเซียม ถ่ายจากสนามหน้าโรงเรียน (ภาพจาก Trinity College School Record, February 1898 - December 1908)

ทีมคริกเก็ตของโรงเรียน ดิบบ์ คือคนยืนที่สองจากขวามือ ซึ่งเขาได้รับรางวัลฟิลเดอร์ยอดเยี่ยมในปีพ.ศ.2437 (เอื้อเฟื้อภาพจาก Viola Lyons)

ผู้ชนะถ้วยรางวัล อ๊อกซฟอร์ดชาลเล้นจ์คัพ(ถ้วยเดิม)ในปีพ.ศ.2446 และผู้ชนะถ้วยชื่อเดียวกันในปีพ.ศ.2555 แต่เป็นถ้วยใหม่ทดแทนถ้วยเดิมที่ถูกไฟใหม้ในปีพ.ศ.2471 (เอื้อเฟื้อเอกสารจาก Viola Lyons)