ชีวิตครอบครัวของ มร.ดิบบ์ ในล้านนา


มื่อไปประจำที่เมืองแพร่ใหม่ๆ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ได้ภรรยาคนใหม่ชื่อว่า หนู ซึ่งเป็นบุตรของ พ่อเฒ่าหมู และ แม่เฒ่าไฝ ชาวพื้นเมืองล้านนา นางสาวหนู ขณะนั้นเป็นสาวสะพรั่งอายุ 19 ปี มีรูปร่างเล็กอ้อนแอ้น อ่อนโยน ตามลักษณะของคนล้านนาสมัยนั้น แต่เนื่องจาก มร.ดิบบ์ มีลูกชายหนึ่งคนติดมาจากภรรยาคนแรกที่เลิกรากันไปแล้ว นางหนู จึงต้องรับภาระเป็นผู้เลี้ยงดู เกเบรียล หมอก ดิบบ์ (Gabriel Mawk Dibb) ลูกชายคนแรกของสามีไปด้วย

การอยู่กินเป็นสามีภรรยาของคนทั้งสองคงไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าสำหรับหญิงชาวพื้นเมืองการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้จัก ทั้งนี้เพราะในสยามเวลานั้นยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องนี้ การจดทะเบียนสมรสของสามัญชนชาวสยาม เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 หลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว แต่สำหรับชาวอังกฤษการแต่งงานให้ถูกกฎหมาย ต้องไปจดทะเบียนที่สถานกงสุลเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม่ดูเหมือนว่าการจดทะเบียนแต่งงานของหนุ่มชาวอังกฤษกับสาวชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ อาจทำให้ทั้งคู่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมชาวยุโรปในสมัยนั้น

หลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงทัศนคติเช่นว่านี้มาจากหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง ที่เขียนเกี่ยวกับ มร.หลุยส์ โทมัส เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Leonwens) ในหนังสือเล่มนี้ได้อ้างถึงจดหมายติดต่อระหว่าง รองกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ขณะนั้นกับเจ้าหน้าที่อังกฤษในพม่า ซึ่งในจดหมายของรองกงสุลท่านนี้ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ หลุยส์ หลังจากที่เขาเพิ่งสูญเสียภรรยาคนแรกไปใหม่ๆ ก่อนที่จะมาแต่งงานกับ ริต้า เมย์ แมคลอกช์เลน (Reta May Maclaughlan) โดยเขาได้ระบุในจดหมายด้วยประโยคเด็ดที่น่าขบคิดไว้ว่า

“หลุยส์กำลังจะเปลี่ยนเป็นคนพื้นเมืองไปแล้ว

เหตุผลที่มาของประโยคเด็ดในจดหมายฉบับนั้นเกิดจากการที่รองกงสุลท่านนี้ไปพบว่า หลุยส์ นั่งรถม้าอย่างเปิดเผยไปทำบุญที่วัดพุทธแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กับสาวเชื้อเจ้าชาวละกอนคนหนึ่งพร้อมกับน้องสาวของนาง โดยขณะนั้นสังคมชาวเชียงใหม่รับรู้กันว่า หลุยส์ ได้ยกย่องสาวชาวพื้นเมืองผู้นี้เป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา ประโยคนี้จึงแฝงไว้ด้วยความหมายซึ่งไม่ยากที่จะตีความ หากพิจารณาจากการกระทำที่ตามมาของรองกงสุลท่านนี้ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นคงเป็นส่วนหนึ่งทำให้เขา ไม่เชิญให้ หลุยส์ ไปบ้านของเขาอีกแม้จะเคยเป็นเพื่อนสนิทสนมกันมาแต่เดิม

นอกจากจดหมายฉบับดังกล่าวของรองกงสุลอังกฤษแล้ว ยังมีข้อความอีกหลายแห่งในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติในเชิงลบของสังคมชาวยุโรป ต่อการอยู่กินฉันสามีภรรยาของเพื่อนชาวอังกฤษของพวกเขากับสาวพื้นถิ่นล้านนา ดังเช่นกรณีที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง มร.เดวิด เฟลมมิ่ง แมคฟี (Mr.David Fleming Macfie) ผู้จัดการป่าไม้คนแรกของบริษัทบริติชบอร์เนียว ที่แต่งงานอย่างเป็นทางการในสถานกงสุลอังกฤษ กับผู้หญิงล้านนาคนหนึ่ง เมื่อเขาอายุได้ 43 ปีหลังจากที่อยู่กินด้วยกันเป็นสามีภรรยาจนมีลูกแล้วถึงสามคน แต่หลังแต่งงานกลับไม่มีเพื่อนชาวยุโรปคนใดให้เกียรติไปเยี่ยมเยือน แสดงความยินดีกับเขาและภรรยาเลย ซึ่งทำให้ตัวเขารู้สึกผิดหวังและเสียใจมาก

นอกจากนั้นยังมีข้อความ ที่เป็นคำสั่งสอนของนายห้างป่าไม้อาวุโส ต่อนายห้างฯที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วงคริสต์มาสปีหนึ่ง ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือของ ลีห์ วิลเลียมส์ (Leigh Williams) นายห้างป่าไม้สมัยต้นคริสตวรรษที่20 โดยนายห้างฯอาวุโสผู้นั้นกล่าวว่า:

“คุณจะไม่เชื่อเลยว่าพวกเขาต้องจ่ายให้สาวชาวบ้านพวกนี้ไปเท่าไหร่ พวกเขาอ่อนไหวเกินไป ที่ไปหลงใหลให้เกียรติคนพวกนี้ แทนที่จะถือว่าพวกนางเป็นเพียงผีดูดเลือดที่ต้องมีไว้ใช้ยามจำเป็น หญิงพวกนี้แม้หล่อนจะรู้วิธีป้องกันการมีบุตรดีกว่าชาวบ้านคนอื่น แต่เธอจะพยายามมีลูกให้เร็วที่สุด พวกหล่อนเชื่อว่าจะเป็นสิ่งดึงดูดไห้คุณอยู่กับเธอ หลังจากนั้นแน่นอน ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า อาหาร การศึกษา สำหรับเด็กๆ ทำไมนะหรือ? ก็เพราะว่าเขาเหล่านั้นบางคนยังอุตส่าห์ส่งเด็กๆ เหล่านี้ไปเรียนถึงยุโรป เพราะฉะนั้น จงระวังตัวไว้หนุ่มน้อย! มิฉะนั้นคุณจะกลายเป็น พ่อที่ไม่ภาคภูมิใจในตัวเองเลย"

แต่ไม่ว่าสังคมรอบข้างจะมีทัศนคติเช่นใรก็ตามในที่สุด มร.วิลเลียม ดิบบ์ และ นางหนู ก็อยู่กินด้วยกันจนมีลูกคนแรกเป็นหญิง ชื่อว่า ไดแอน (Diane) ชื่อไทยว่า ดอกเอื้อง ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2449 แต่หลังจากนั้นทั้งคู่กลับต้องประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญสองครั้งติดๆกัน โดยลูกชายคนถัดมาได้เสียชีวิตลงขณะที่อายุไม่กี่ขวบ และอีกไม่นานจากนั้นลูกผู้หญิงอีกคนที่เกิดตามมาก็เสียชีวิตลงอีก มร. ดิบบ์ ได้นำร่างลูกหญิงคนนี้ ไปฝังไว้เป็นเพื่อนใกล้ๆ กับพี่ชายของเธอ ที่ริมฝั่งแม่น้ำยม แต่ปัจจุบันไม่มีป้ายหลุมศพเหลือเป็นอนุสรณ์ให้จดจำอีกแล้ว เพราะร่างของพี่น้องทั้งคู่ได้ล่องลอยไปกับสายน้ำสู่สุคติชั่วนิรันดร์ ด้วยแรงกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำยม

ต่อมาก่อนที่ มร.ดิบบ์ จะอาสาสมัครสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพียงสามเดือน นางหนู ก็ให้กำเนิดลูกสาวแก่เขาอีกคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาบุตรสาวคนนี้ได้รับการตั้งชื่อภาษาไทยว่า มาลี [i]

[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561)