ฝรั่งหนุ่มในเมืองละกอน


ไม่นานหลังสำเร็จการศึกษาที่อ๊อกซฟอร์ด มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ที่ขณะนั้นเป็นหนุ่มน้อยอายุเพิ่งย่างเข้า 21 ปี ได้จับเรือกลไฟเดินสมุทรชื่อ ‘ซิมลา (Simla)’ ออกจากกรุงลอนดอนเพื่อเดินทางไปยังประเทศอินเดียทันทีที่โอกาสอำนวยในปี พ.ศ. 2440 โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองกัลกัตตาในรัฐเบงกอล เมืองหลวงของบริติชอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีญาติพี่น้องของเขาหลายคนทำมาหากินอยู่ที่นั่น ทั้งนี้เพื่อตามหางานอาชีพที่เขาเชื่อว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนเอง ที่เป็นคนชอบกีฬาและรักชีวิตการต่อสู้ผจญภัย โดยได้ไปสมัครสอบบรรจุเป็นนายตำรวจประจำรัฐเบงกอล (Bengal Superior Police Officer) ของบริติชอินเดีย อาชีพที่น้าของเขาที่เป็นนายตำรวจของเมืองมัทราส เคยเล่าให้ฟังสมัยเด็กตอนอยู่ลอนดอน

หลังจากรอคอยการประกาศผลสอบบรรจุเป็นนายตำรวจมาระยะหนึ่ง เมื่อกำหนดเวลามาถึงในต้นปี 2441 มร. ดิบบ์ ต้องพบกับความผิดหวังอย่างแรง โดยเขาสอบได้เป็นที่สี่ขณะที่ทางการต้องการรับเพียงสามตำแหน่ง แต่เขาก็ยังคงไม่ลดละความตั้งใจเดิมและกะว่าจะลองรอสอบดูใหม่อีกสักครั้ง อย่างไรก็ตามในขณะที่รอสอบรอบใหม่ เขากลับได้รับการตอบรับให้เข้าทำงานกับบริษัทป่าไม้ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘บอมเบย์เบอร์ม่า’ ที่ได้ไปสมัครสำรองไว้ก่อนหน้านั้นในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการป่าไม้ตอนเหนือของประเทศสยาม

แน่นอนว่างานเช่นนี้ตรงกับนิสัยของเขา และท้าทายไม่น้อยไปกว่าการเป็นตำรวจจับผู้ร้าย มร. ดิบบ์ จึงตัดสินใจเลือกอาชีพเป็น ‘นายห้างป่าไม้’ แทนการเป็นตำรวจในอินเดียตั้งแต่บัดนั้น จากนั้นเขาจึงถูกส่งขึ้นเรือข้ามอ่าวเบงกอลมาประจำที่เมือง ‘ละกอน’ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าลำปาง หัวเมืองล้านนาแห่งหนึ่งของประเทศสยาม โดยเดินทางผ่านมาทางเมืองมะละแหม่งของพม่าที่ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกับอินเดีย

เมืองละกอนขณะที่ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เดินทางมาถึงในปีพ.ศ. 2442 เพิ่งมีเจ้าหลวงองค์ใหม่มาได้สองปี โดยรัฐบาลสยามแต่งตั้งให้ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ที่ขณะนั้นอายุได้ 40 ปีขึ้นเป็นเจ้าหลวง แต่เป็นเจ้าหลวงภายใต้ระบบมณฑลเทศาภิบาล ที่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเจ้าหลวงยังคงเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และที่สำคัญยังเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน อีกทั้งสมัยนั้นเจ้าหลวงยังร่ำรวยเงินทอง มีรายได้จากตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงค่าตอไม้จากป่าสัมปทานในเขตพื้นที่เมืองละกอนรวมเฉลี่ยปีละประมาณ 180,000 บาท

เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตฯ ได้ชื่อว่าเป็นนายห้างป่าไม้คนหนึ่งของล้านนา เพราะเป็นเจ้าของสัมปทานที่ป่าแม่ต้าและป่าเมืองลอง ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ในเขตอำเภอลอง จังหวัดลำปาง (ปัจจุบันย้ายมาขึ้นกับจังหวัดแพร่) แต่ต่อมาได้ทำสัญญาทางธุรกิจในป่าแห่งนี้ กับบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันในภายหลัง ก่อนที่พระองค์จะถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2465

ขณะเมื่อหนุ่มน้อย วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เข้ามาถึงเมืองละกอนในปี พ.ศ. 2442 นั้นบริษัทบอมเบย์ฯ มีป่าในขอบเขตเมืองละกอนอยู่เจ็ดป่า ป่าที่สำคัญคือป่าผืนใหญ่ส่วนต้นแม่น้ำวัง นอกจากนั้นบริษัทยังได้ทำสัญญากับ มร. หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ นักธุรกิจวัยกลางคนผู้มีกิจการหลายอย่างในสยาม ซึ่งในปลายปีพ.ศ.2442 ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองละกอนพร้อมภรรยาสาวน้อย รีต้า เมย์ แมคลอกช์เลน (Reta May Maclaughlan) โดยในสัญญาดังกล่าว เลียวโนเวนส์ ต้องส่งไม้จากป่าแม่พริกให้บริษัทบอมเบย์ฯ (แท้จริงแล้วเจ้าของสัมปทานป่าแม่พริกคือชาวมอญชื่อ หม่องจันโอง แต่เขาได้ทำสัญญาธุรกิจกับ เลียวโนเวนส์ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์ในป่านี้แทน หม่องจันโอง ผู้นี้คือเจ้าของบ้านที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘บ้านเสานัก’ ในลำปาง) และ เลียวโนเวนส์ ยังต้องขายไม้ในป่าทั้งหมดที่เขามีในสยามให้กับบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม เลียวโนเวนส์ กับบริษัทบอมเบย์ฯ กลับมีปัญหากันในภายหลัง จนบริษัทฯต้องยกเลิกสัญญาในปลายปี พ.ศ. 2444 และนำไปสู่การฟ้องร้องกันในที่สุด นอกจาก เลียวโนเวนส์ แล้วในละกอนขณะนั้นยังมีฝรั่งนายห้างป่าไม้ ทั้งจากบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทสยามฟอเรสต์ และบริษัทบริติชบอร์เนียว รวมถึงชาวอังกฤษที่ทำงานกับกรมป่าไม้สยามอีกประมาณสิบกว่าคนประจำอยู่ในเมืองนี้

มร.ดิบบ์ ขณะอายุ 32 ปี ซึ่งเพิ่งย้ายจากละกอนไปแพร่

เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตฯ หน้าคุ้มหลวง

มร.หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ลำปางช่วงแรกๆ ทำสัญญาส่งซุงให้ บ.บอมเบย์ฯ

หม่องจันโอง ผู้ร่วมธุรกิจกับเลียวโนเวนส์ และเป็นผู้สร้างบ้านเสานักแหล่งท่องเที่ยวในลำปางปัจจุบัน

วิถีชีวิตของนายห้างป่าไม้เหล่านี้ ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในป่า โดยกลับเข้าสถานีป่าไม้ในเมืองเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ยกเว้นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีอันตรายอยู่รอบด้านจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งจากการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคมาลาเรียและไทฟอยด์ (หรือไข้รากสาดน้อย) ตลอดจนอาจถูกทำร้ายโดยโจรป่าหรือสัตว์ร้าย

นอกจากนั้นยังเป็นวิถีชีวิตที่เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่กับคนรับใช้ กุลี และควาญช้าง ซึ่งเป็นสังคมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่คุ้นเคยในยุโรป โดยมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพียงหนึ่งครั้งในรอบสี่ถึงห้าปี วิถีชีวิตเช่นนี้น่าจะยากลำบาก และว้าเหว่มาก จนนำไปสู่เหตุการณ์เศร้าสลด ดังที่เกิดขึ้นในเมืองละกอนขณะที่ ดิบบ์ ประจำอยู่ที่นั่น โดยในคืนวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2444 เพื่อนรุ่นพี่นามว่า ซี อี แฟร์โฮล์ม (C.E. Fairholme) ไม่สามารถทนความกดดันกับวิถีชีวิตเช่นนี้ได้ จึงทำการปลิดชีพตัวเองขณะอายุเพียงสามสิบปี

ด้วยที่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยเหตุต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นมีอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่มีสุสานฝังศพบุคคลเหล่านี้เป็นการเฉพาะให้สมเกียรติ ดังนั้นข้าหลวงใหญ่แห่งสยามประจำเชียงใหม่ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานที่ดินผืนหนึ่งใกล้กับสโมสร ยิมคานา เชียงใหม่ ให้แก่ชาวต่างชาติเมื่อปีพ.ศ. 2441 เพื่อจัดทำเป็น ‘สุสานฝรั่ง’ ให้สมเกียรติผู้เสียชีวิต

สำหรับสโมสรยิมคานานั้น ได้ก่อตั้งไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2441 โดยชาวอังกฤษ 11 คนที่มาชุมนุมกันในห้องโถงประดับธงของ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่สยามประจำเชียงใหม่ เริ่มแรกสโมสรแห่งนี้มีสมาชิกเฉพาะชาวยุโรปเท่านั้น แต่อาจเชิญผู้ทรงอิทธิพลชาวสยามและเจ้าล้านนาบางคนเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยปกติสโมสรไม่ค่อยคึกคักมากนักในช่วงระหว่างปี ยกเว้นช่วงคริสต์มาสที่จะคึกคักเป็นพิเศษ กิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงคริสต์มาสมีการแข่งม้า แข่งโปโล กอล์ฟ คริกเก็ต ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีปาร์ตี้เต้นรำดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน ในระยะหลังเจ้าภาพในการจัดงานชุมนุมช่วงคริสต์มาส จะหมุนเวียนกันระหว่างสโมสรที่เชียงใหม่และละกอน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ มร. ดิบบ์ อยู่ที่เมืองละกอน หรือลำปาง คือเหตุการณ์ 'กบฏเงี้ยว' ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ที่กองกำลังตำรวจและทหารถูกส่งไปตามคำสั่งของ พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงสยามประจำจังหวัดลำปาง เพื่อไปจับตัวกลุ่มโจรเงี้ยวหรือไทใหญ่ ที่อพยพมาจากพม่า และซ่อนตัวปะปนอยู่ในเหมืองพลอยบ้านบ่อแก้ว ใกล้กับเมืองลอง ในเขตเมือง แพร่ แต่กองกำลังดังกล่าวกลับถูกซุ่มโจมตีและสูญเสียกำลังพลไปจำนวนมากจนต้องล่าถอยกลับออกมา

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กลุ่มโจรไทใหญ่ฮึกเหิมจึงรวบรวมพลเข้าตีเมืองแพร่ โดยมีแนวร่วมทั้งชาวไทใหญ่และคนลาวพื้นเมืองส่วนหนึ่ง ที่ไม่ค่อยพอใจกับระบบจัดเก็บภาษี และการกดขี่โดยข้าหลวงและข้าราชการจากกรุงเทพฯ ในที่สุดเมืองแพร่จึงตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองกำลังฝ่ายกบฏในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ต่อมาพวกเขาได้วางแผนเพื่อบุกยึดเมืองละกอนเป็นลำดับถัดไป ด้วยความตั้งใจที่จะขับไล่ชาวสยามภาคกลางให้ออกไปจากหัวเมืองชายแดนภาคเหนือทั้งหมด

เมื่อมีข่าวว่าจะมีการบุกยึดเมืองละกอน จึงมีการอพยพชาวต่างชาติออกจากเมือง โดยส่วนหนึ่งล่องแม่น้ำวังลงไปทางใต้ อีกส่วนหนึ่งขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มหลังนี้จากบันทึกของแมคฟีระบุว่ามี มร. ดิบบ์ รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นก็มี อาร์ เอส วัตสัน (R.S. Watson) จากบริษัทสยามฟอเรสท์ มิสเตอร์และมิสซิสอาร์ ซี ทอมสัน (R.C. Thomson) จากกรมป่าไม้และ มิสซิสริต้า ลีโอโนเวนส์ ภรรยา หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ โดยทั้งหมดเดินทางถึงเชียงใหม่ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2445 (อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่ขัดแย้งกันจากหนังสือประวัติบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า ที่ระบุว่า มร. ดิบบ์ ถูกสั่งให้ควบคุมหีบเงินของบริษัทบอมเบย์ฯ นั่งเรือล่องไปเมืองระแหง)

สำหรับการบุกตีเมืองละกอน ได้เริ่มขึ้นในรุ่งเช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2445 นำโดย พะกาหม่อง ในช่วงแรกฝ่ายกบฏสามารถรุกไล่ตำรวจจนสามารถยึดจวนข้าหลวงสยามไว้ได้ แต่ต่อมาสถานการณ์กลับพลิกผัน ส่วนหนึ่งด้วยความสามารถและความกล้าหาญของ ร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน(Hans Markward Jensen) นายตำรวจหนุ่มจากกองกำลังตำรวจสยามชาวเดนมาร์กซึ่งได้นำ ร้อยโท ชุ่ม และพลตำรวจอีกจำนวนหนึ่งเข้าตีโอบจนทำให้ฝ่ายกบฏถูกยิงเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงตัว พะกาหม่อง ฝ่ายที่บุกรุกจึงเสียขวัญล่าถอยกลับไป

อีกประมาณสองสัปดาห์ต่อจากนั้น ตำรวจและทหารของสยามนำโดย พระยาพิชัย ได้นำกองกำลังส่วนหน้าเข้าปราบปรามกบฏที่เมืองแพร่ และเข้ายึดเมืองได้ในวันที่ 16 สิงหาคม หลังจากนั้นในวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงนำกองทัพจากกรุงเทพฯเข้าสู่เมืองแพร่ แต่เป็นที่น่าสลดใจว่าต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2445 ร้อยเอกเจนเซ่น ซึ่งไล่ติดตามกลุ่มกบฏชาวไทใหญ่ ที่กำลังพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ได้ถูกฝ่ายกบฏยิงเสียชีวิตที่พะเยา โดยศพของเขาถูกนำมาฝังไว้ในสุสานฝรั่งเชียงใหม่ในภายหลัง

วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ประจำที่สถานีป่าไม้เมืองละกอนต่อมาอีกสองปี จึงได้ลาพักผ่อนประมาณหกเดือนเพื่อกลับอังกฤษเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีพ.ศ. 2447 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ เลียวโนเวนส์ ที่ขณะนั้นอายุได้ 48 ปีแล้วได้ตัดสินใจยุติบทบาททางธุรกิจของตนเองเดินทางออกจากเมืองละกอนกลับไปอังกฤษเช่นกัน เมื่อเดินทางกลับมายังสยามในปลายปี พ.ศ. 2447 ดิบบ์ ได้ถูกย้ายจากสถานีป่าไม้เมืองละกอน ไปเป็นผู้จัดการสถานีป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าที่แพร่ ส่วน เลียวโนเวนส์ ได้ไปจดทะเบียนบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ที่กรุงลอนดอนในต้นปี พ.ศ. 2448[i]

[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561) และ Macaulay, R.H., History of the Bombay Burmah Trading Corporation, Ltd.1864-1910 (Privately printed by Spottiswoode, Ballantyne. Co. ltd, 1934)

ภาพบน: สุสานฝรั่งเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ฝังศพของ ซี อี แฟร์โฮล์ม และร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ตลอดจนนายห้างป่าไม้ร่วมยี่สิบคน รวมทั้ง มร. มิลเลอร์ และ มร. ฮาร์ทเล่ย์ ซึ่งถูกโจรยิงตายขณะทำงานในป่า

ภาพล่าง: ผู้เขียนร่วมถ่ายภาพกับรัฐมนตรีวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ หน้าอดีตบ้านของ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ในวันที่ไปบรรยายเรื่องราวของเลียวโนเวนส์ ที่ลำปาง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2019

แผนที่แสดงป่าสัมปทานของบริษัททำไม้ต่างๆ ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ในปี พ.ศ.2452 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า หรือที่บริษัทฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์ เกือบปลายสุดของแม่น้ำวังเป็นป่าแม่วังตอนบนของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า (หมายเหตุ: BBTC=บอมเบย์ฯ BCL=บริติชบอร์เนียว SFCL=สยามฟอเรสต์ EAC=อิสต์เอเชียติค LTC=หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ N=คนท้องถิ่น NBB=คนท้องถิ่นแต่บอมเบย์ฯ รับผลประโยชน์ เช่นป่าเมืองลองของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (เอื้อเฟื้อข้อมูล Teak area detail 1909 Map จาก Oliver Backhouse)


ภาพบนเป็นภาพถ่ายทางอากาศโดย Peter Williams-Hunt เมื่อ พ.ศ 2487 แสดงพื้นที่ของ บ.บอมเบย์ฯ ที่แพร่ ซึ่งขายให้ บ.อิสเอเชียติกพร้อมอาคารสามหลังเมื่อ พ.ศ.2468 ก่อนหน้านั้นสมัยที่ มร.ดิบบ์อยู่ที่แพร่ พื้นที่ติดกับบริษัทด้านซ้ายของรูปที่อยู่ริมแม่น้ำยมเป็นศูนย์มิชชันนารี เขาจึงมักให้บรรดามิชชันนารีมาใช้บังกะโลและสนามเทนนิสของบริษัทฯเมื่อเหล่ามิชชันนารีมีการประชุมสัมมนา ดังที่กล่าวไว้ในวารสาร Lao News และ The Bangkok Times ในสมัยนั้น

น่าสังเกตุว่าอาคารเขียวที่ถูกรื้อไม่ใช่อาคารของบ.บอมเบย์ฯดังที่สื่อมวลชนประโคมข่าวแต่เป็นของกรมป่าไม้สยามในสมัยนั้น ดังหลักฐานในหนังสือของ Reginald Le May บรรดาอาคารของบอมเบย์ฯถูกน้ำแม่ยมซัดพังไปหมดแล้ว เนื่องจากสายน้ำเปลี่ยนเส้นทาง ดังรูปเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับแผนที่กูเกิลในปัจจุบัน

กว่าสิบปีกับชีวิตนายห้างป่าไม้ที่แพร่


สถานีป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าที่แพร่สมัยที่ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เป็นผู้จัดการเป็นสถานีใหญ่ ทั้งนี้เพราะบริษัทบอมเบย์ฯ ได้รับสัมปทานป่าไม้ในบริเวณนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ตั้งแต่ตอนเหนือของอำเภอปง จังหวัดน่าน (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดพะเยา) ที่เป็นผืนป่าของลำน้ำหลายสายที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำยม ไล่ลงมาทั้งสองฝั่งของแม่น้ำยมกินพื้นที่ลึกเข้าไปฝั่งละประมาณ 15-20 กิโลเมตร โดยฝั่งขวาลงไปจนถึงลุ่มน้ำแม่ปางในพื้นที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน (ปัจจุบันคืออำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา) ติดกับผืนป่าของบริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ที่อยู่ใต้ลงไป ส่วนฝั่งซ้ายแม่น้ำยมป่าสัมปทานของบริษัทบอมเบย์ฯ จะเลยลงไปจนถึงคลองสบปู บ้านป่าเลา ตำบลสะเอียบ อำเภอสองของจังหวัดแพร่ ซึ่งติดกับผืนป่าของบริษัทอิสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก

นอกจากนั้นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่ายังมีผืนป่าลุ่มน้ำแม่ต๋ำในเขตอำเภอพะเยา (ปัจจุบันคือจังหวัดพะเยา) ซึ่งอยู่ใต้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำจุนของบริษัทสยามฟอเรสต์ ผืนป่าของบริษัทบอมเบย์ฯ ห่งนี้ ยาวลงมาเชื่อมกับด้านใต้ของผืนป่าฝั่งขวาแม่น้ำยมของบริษัทฯ ขณะเดียวกันยังได้สัมปทานผืนป่าฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ใต้ตัวจังหวัดน่าน ลงไปจนถึงรอยต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเชื่อมกับผืนป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำยมของบริษัทบอมเบย์ฯ

ในฐานะของหัวหน้าสถานีป่าไม้นอกจาก มร.ดิบบ์ ต้องเข้าป่าทำงานเช่นเดียวกับนายห้างฯคนอื่นๆ เขายังต้องทำหน้าที่มอบหมายงานตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ และกำกับดูแลนายห้างป่าไม้รุ่นน้องๆ ในเรื่องการทำไม้ในป่า โดยเริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝนของแต่ละปี ที่ฝรั่งนายห้างป่าไม้จะเข้าป่าสัมปทานเพื่อทำงานกันอย่างจริงจัง

นายห้างป่าไม้จะแยกย้ายกันไปอยู่ในปางไม้ในป่าสัมปทานแต่ละแห่ง ซึ่งห่างกันใช้เวลาเดินทางหลายวัน ช้างนับร้อยเชือกของบริษัทฯ จะถูกจัดวางให้ทำงานในตำแหน่งยุทธศาสตร์ต่างๆ ในป่า ท่อนซุงที่ช้างลากลงจากเขาสูงก่อนช่วงน้ำหลากจะถูกนำมา ‘รวมหมอน’ ในพื้นที่ราบที่เตรียมไว้ โดยท่อนซุงเหล่านี้จะถูกวัดขนาด ทั้งความยาวและเส้นรอบวงกลางท่อน ก่อนตีตราด้วยฆ้อนเหล็ก เพื่อแสดงเครื่องหมายชื่อบริษัท ปีที่ตีตรา เลขประจำตัวของนายห้างป่าไม้ผู้รับผิดชอบ ตลอดจนสัญลักษณ์แสดงคุณภาพของท่อนไม้ซุง ว่าอยู่ในชั้นใด ซึ่งก็มีตั้งแต่ชั้นหนึ่งถึงชั้นสามแต่หากไม่เข้าเกรดก็เป็นไม้คัดทิ้ง ในกรณีที่พื้นที่นี้อยู่ห่างจากแม่น้ำลำห้วยที่ใช้ลอยซุงได้ ก็จำเป็นจะต้องขนย้ายอีกครั้งไปยังข้างลำน้ำ ซึ่งมักจะบรรทุกท่อนซุงไปบนเกวียนเทียมควาย เพราะเร็วกว่าใช้ช้างลาก

ครั้นถึงช่วงน้ำหลาก ที่ระดับน้ำในแม่น้ำลำห้วยขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ฝนเทกระหน่ำลงบนเขาสูงและยอดดอยมาหลายวัน จังหวะนี้คือเวลาทองของนายห้างป่าไม้ ที่ต้องกำกับดูแลสั่งการกุลีและควาญช้างให้รีบจัดการนำท่อนซุงปล่อยลงในสายน้ำที่กำลังเชี่ยวกรากให้เร็วที่สุด ก่อนที่ระดับน้ำจะลดระดับลง ซึ่ง รจินัลด์ แคมป์เบล(Reginald Campbell) นายห้างป่าไม้คนหนึ่งได้บรรยากาศไว้ให้เห็นภาพในหนังสือของเขาดังนี้

“โชคดีที่ท่อนซุงยังไม่กองทับถมกัน! แต่ท่อนใหม่ๆ ก็กำลังไหลมาจากทิศเหนือเร็วขึ้นและเร็วขึ้น ช้างหลายเชือกกำลังสาละวนช่วยกันงัด ช่วยกันเอาหัวดัน ไม่ให้ท่อนซุงติดค้างตามโขดหินจนกองทับถมปิดกั้นสายน้ำ เสียงอึกทึกของคนและช้างที่กำลังง่วนอยู่กับภารกิจในลำน้ำนั้น ได้สร้างบรรยากาศที่ยากจะบรรยาย ซึ่งมีทั้งเสียงแผดร้องของช้าง เสียงถล่มของฝั่งแม่น้ำ เสียงลั่นครืนของท่อนซุงที่ไหลมากระแทกกัน เสียงตะโกนของควาญช้างและคนผูกโซ่ และเสียงดังกระหึ่มของสายน้ำ เสียงทั้งมวลนี้ผสมผสานเป็นเสียงคำรามอันกึกก้องน่าเกรงขามยิ่งนัก”

การทำงานในป่าช่วงฤดูฝนเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งจากโคลนหนาเตอะที่บางครั้งสูงถึงเข่า รวมถึงฝูงทากที่ยั้วเยี้ยอยู่ตามใบไม้ใบหญ้าเรี่ยดินและที่เกาะอยู่ตามพุ่มไม้ข้างทางเดิน พร้อมที่จะกระเด้งดึบเข้าดูดเลือดผู้คนที่เดินผ่านไปโดยที่เจ้าตัวไม่ทันรู้สึก ทั้งนี้ยังไม่นับสัตว์เลื้อยคลานมีพิษที่มีชุกชุม รวมถึงฝูงยุงก้นปล่องที่คอยหาจังหวะจ้องกัด จนคันคะเยอเพิ่มเชื้อมาลาเรียเข้าในกระแสเลือด อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลนี้กลับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของนายห้างป่าไม้ ที่จะสามารถทำภารกิจขนย้ายท่อนซุงที่แต่ละท่อนหนักกว่าหนึ่งตัน จากต้นแม่น้ำในป่าล้านนาไปยังกรุงเทพฯ ที่ห่างไปเจ็ดแปดร้อยกิโลเมตรได้สำเร็จ

หลังจากกำกับดูแลให้ท่อนซุงแต่ละท่อนลงลอยในแม่น้ำลำห้วยหมดแล้ว นายห้างป่าไม้จะถูกมอบหมายให้เดินทางด้วยเรือตามลำน้ำแม่ยมไปยังสถานีทำแพไม้ซุงที่สวรรคโลก หรือสุโขทัย เพื่อกำกับการต่อแพก่อนที่แพเหล่านี้จะถูกปล่อยให้ลอยต่อไปยังปากน้ำโพ ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจกำกับดูแลการต่อแพแล้ว นายห้างป่าไม้ต้องย้อนขึ้นเหนือตามลำน้ำแม่ยมอีกครั้ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ป่าล้านนาเขียวครึ้มปกคลุมด้วยสีเทาจางๆ ของหมอกยามเช้าสวยงามเย็นตา ในสายน้ำสีเขียวเข้มที่ไหลเอื่อยๆ แตกต่างจากน้ำสีสนิมข้นคลั่ก ไหลเชี่ยวรุนแรง ในช่วงฤดูน้ำหลากที่เพิ่งผ่านไป ทั้งนี้เพื่อค้นหาและกำหนดตำแหน่งไม้ซุงที่ลอยน้ำลงไปไม่ถึงสถานีทำแพ แต่ติดค้างบนโขดหินเนินทราย หรือแอ่งน้ำขังรกทึบข้างลำน้ำต่างๆ ทั้งนี้เพื่อบันทึกรายละเอียดไม้ซุงที่พบลงในสมุด จากนั้นจึงนำไปทำบัญชีเช็คยอด เทียบกับจำนวนท่อนไม้ซุงที่ถูกปล่อยลงมาจากต้นน้ำในช่วงน้ำหลากที่ผ่านมา ซึ่งฝรั่งป่าไม้จะเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘นีปปิ้ง (neaping)’

เสร็จจากภารกิจเช็คยอดจำนวนไม้ซุงแล้วก่อนเข้าช่วงคริสต์มาส นายห้างป่าไม้อาจได้รับมอบหมายให้เข้าป่าเพื่อดูแลการกานไม้ ต่อมาหลังจากการหยุดพักยาวช่วงคริสต์มาสบรรดานายห้างป่าไม้จะกลับเข้าป่าอีกครั้ง เพื่อทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จสิ้น ก่อนย่างเข้าฤดูร้อน ในฤดูนี้อากาศจะร้อนอบอ้าว แถมต้นไม้ใหญ่น้อยก็ทิ้งใบจนหาร่มไม้เพื่อพักคลายร้อนในป่าได้ยาก อากาศที่ร้อนและแสงแดดจ้าเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับช้างทำไม้ ดังนั้นช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จึงเป็นเวลาที่ช้างลากไม้จะถูกนำไปพักในปางไม้ที่ร่มรื่นในป่า โดยไม่ทำงานใดๆ เช่นเดียวกันบรรดาฝรั่งนายห้างป่าไม้ก็จะกลับเข้ามายังสถานีป่าไม้ในเมือง เพื่อพักร้อนและตระเตรียมงานสำหรับช่วงฤดูฝนปีถัดไป

ไม้ซุงถูกนำมารวมหมอนในพื้นที่ราบกลางป่าก่อนที่นายห้างป่าไม้จะกำกับการวัดขนาดและตีตราเพื่อบันทึกลงในสมุด (เอื้อเฟื้อภาพจาก Peter Kirrage’s sons)

คาราวานควายเตรียมพร้อมเพื่อลากล้อเกวียนบรรทุกท่อนซุง

(เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

ท่อนซุงจำนวนมากในสายน้ำเชี่ยวกราก

สองรูปแรก: รถไฟขนซุงที่เมืองปงของ บ.สยามฟอเรสต์ วิ่งจากริมแม่น้ำยมผ่านป่าของบ.บอมเบย์ฯไปยังป่าแม่จุน ป่าสัมปทานของบรืษัทฯ เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.2456 รูปถัดมาเป็นผู้รับผิดชอบสร้างรางรถไฟสม้ยนั้น มี มร.เอลเดอร์ มร.สเปนเซอร์ และวิศวกร มร.ลอว์

สองรูปสุดท้าย: นายห้างป่าไม้ช่วงคริสต์มาสปีพ.ศ.2451 และ พ.ศ.2455ที่สโมสรยิมคานาเชียงใหม่และละกอนสปอร์ดคลับลำปาง มร.ดิบบ์ นั้งขวาสุดในรูปบนส่วนคนซ้ายสุดคือ มร.คิวริเปอล์ ในรูปร่างหมายเลขเจ็ดคือ มร.ดิบบ์ ส่วนหมายเลขหนึ่งคือ มร.คิวริเปอล์ หมายเลขสองคือ มร.เบน หมายเลขหกคือ มร.เอลเดอร์ หมายเลขแปดคือ มร.มาร์ติน บิดา ศ.นายแพทย์บุญสม มาร์ติน


เมื่อ มร.ดิบบ์ เข้ามารับผิดชอบเป็นหัวหน้าสถานีป่าไม้ที่เมืองแพร่ได้ปีเศษ ในปี พ.ศ. 2449 เขาได้ต้อนรับนายห้างป่าไม้หนุ่มน้อยหน้าตาเกลี้ยงเกลาจากอังกฤษคนหนึ่ง ที่เพิ่งเข้ามาทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าและถูกส่งมาประจำที่สถานีป่าไม้แห่งนี้ บุคคลผู้นี้เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยของเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มาใหม่ๆ มร. ดิบบ์ คงไม่คาดคิดว่าการต้อนรับเด็กหนุ่มที่มีอนาคตผู้นี้ในครั้งนั้น จะเป็นการนำเขาเข้าสู่จุดจบของชีวิตในอีกหนึ่งปีต่อมา เมื่อเขาได้มอบหมายให้เด็กหนุ่มผู้นี้เข้าไปทำงานในป่าสัมปทานฝั่งซ้ายแม่น้ำยมบริเวณน้ำแม่ปู บ้านป่าเลา ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง ซึ่งทำให้บุคคลผู้นี้ไปป่วยหนักและไม่มีชีวิตกลับออกมาอีกเลย

ต่อมาก่อนขึ้นปีใหม่พ.ศ. 2454 มร.ดิบบ์ ก็ได้รับข่าวเศร้าสลดอีกครั้งว่า มร.อีแวน แพทริค มิลเลอร์(Mr.Evan Patrick Miller) เพื่อนนายห้างป่าไม้บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ที่เคยทำงานด้วยกันสองปี สมัยที่เขาประจำอยู่ที่สถานีป่าไม้เมืองละกอน ถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณป่าแม่หาดเมืองลี้ ขณะที่นายห้างป่าไม้รุ่นน้องอีกคนคือ มร.อี ดับเบิลยู ฮัทชินสัน(Mr.E W Hutchinson) ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสและถูกส่งกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษ

นอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและโจรผู้ร้ายดังที่กล่าวไปแล้ว บรรดานายห้างป่าไม้ยังต้องระมัดระวังอันตรายจากสัตว์ป่า ไม่ว่างูพิษ หมีควาย ช้างป่า หรือช้างเลี้ยงตกมัน โดยเฉพาะเสือทั้งเสือดำ เสือดาว เสือโคร่งที่มีอยู่ชุกชุมในป่าล้านนาสมัยนั้น ในบรรดาสัตว์อันตรายที่นายห้างป่าไม้หวาดกลัวมากกว่าสัตว์ใดๆคงเป็นสัตว์เลื้อยคลานตัวยาวพิษร้าย ที่ได้ชื่อว่าเพชฌฆาตเงียบ ที่มีอยู่ชุกชุมโดยไม่เลือกสถานที่และเวลา นอกจากงูพิษสัตว์ป่าที่สวยและสง่างามแต่มีกิตติศัพท์น่าเกรงขาม สามารถสร้างความหวาดหวั่นให้กับนายห้างป่าไม้ตลอดจนผู้คนในดินแดนแห่งนี้มากกว่าสัตว์ร้ายใดๆ คงหนีไม่พ้นเสือโคร่งที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งป่าล้านนา

เรื่องของเสือกินคนที่นับว่าร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในป่าเมืองปง ป่าสัมปทานฝั่งขวาแม่น้ำยมตอนเหนือของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ซึ่งเป็นป่าในความรับผิดชอบของ มร.วิลเลียม ดิบบ์ ที่เขียนเล่าไว้โดย รจินัลด์ แคมป์เบลล์ ในหนังสือของเขาชื่อ ‘Teak Wallah’ โดยเป็นเรื่องราวที่เขาได้ฟังมาจากการสนทนากับ มร.เอฟ ดี สเปนเซอร์(F.D. Spencer) ซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบสร้างรางรถไฟขนซุงของบริษัทสยามฟอเรสต์จากริมแม่น้ำยม ตัดผ่านป่าเมืองปงของบริษัทบอมเบย์ฯ ไปยังป่าแม่จุนของบริษัทสยามฟอเรสต์ แคมป์เบลล์ เขียนบรรยายไว้ว่า

“เหล่าตำรวจถูกส่งออกไปจากเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อตามล่า แต่พวกเขาต้องผิดหวังกับความพยายามที่ไร้ผล บรรดานักล่าเหล่านี้ต่างเดินย่องตามหาเสือทั้งวันทั้งคืน มีการวางกับดัก ขุดหลุมล่อ ทำเหยื่ออาบยาพิษ แต่แผนการทั้งหมดก็ล้มเหลว เสือโคร่งเพศเมียตัวนั้นฉลาดและเจ้าเล่ห์ดั่งปีศาจ จำนวนผู้ที่โดนลากไปกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดกุลีของบริษัท หรือไม่ก็เพื่อน และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยกว่า 29 คนถูกเสือฆ่าตาย นี่ยังไม่รวมเหยื่อที่ถูกเสือตัวนี้ลากไปในหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายในป่า แต่เป็นที่น่าแปลกที่เสือโคร่งเพศเมียตัวนี้ กลับถูกปลิดชีพด้วยน้ำมือของกุลีชาวขมุ ผู้ซึ่งปกติแล้วยิงกองหญ้ายังไม่ค่อยถูกเลย”

ในฐานะผู้จัดการสถานี มร.ดิบบ์ ต้องรับผิดชอบดูแลนายห้างป่าไม้รุ่นหลังๆให้ทำหน้าที่โดยเรียบร้อย ในสายตาของลูกน้อง มร.ดิบบ์ เป็นนายที่เคร่งครัดมาก ดังคำกล่าวจากหนังสือของ ลีห์ วิลเลียมส์ (Leigh Williams) ลูกน้องคนหนึ่งของเขา ที่กล่าวไว้น่าสนใจว่า บุคคลผู้นี้ เป็นคนประเภทที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาลูกน้องแยกได้เป็นสองมุมเท่านั้น คือ ‘เลวสุดขั้ว’ หรือไม่ก็ ‘ดีวิเศษ’ ชนิดที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนจากนายห้างป่าไม้ฝรั่งคนใด

คนที่ไม่ชอบหน้าจะนินทาว่าคนๆ นี้ไม่เฉพาะแต่ปากร้ายเท่านั้น เวลาเขียนจดหมายเป็นทางการหรือกึ่งทางการตำหนิติเตียนใครยังแสบสุดๆ ชนิดที่คนถูกตำหนิอยากฆ่าตัวตายเลยทีเดียว และสาเหตุที่นาย หรือเพื่อนนายห้างบริษัทฯ คู่แข่งบางคนไม่ชอบหน้าเขาก็เพราะ มร.ดิบบ์ เป็นคนฉลาดประเภท 'ไม่ยอมนั่งนิ่งฟังความคิดโง่ๆจากใคร' เขาเป็นคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูงอย่างหาตัวจับยาก ดังนั้นจึงต้องการให้ทุกคนรวมถึงลูกน้องทำให้ได้อย่างเขา

มร.ดิบบ์ ตัดสินคนจากผลของงาน ไม่ใช่จากความสามารถในการเข้าสังคม หรือจากฝีมือการเล่นโปโลของลูกน้อง แต่ถ้าใครต้องการเรียนรู้งาน เขาจะยินดีสอนให้อย่างทุ่มเทสุดความสามารถ ดังนั้นเขาจึงเป็นที่ครั่นคร้ามของบรรดานายห้างป่าไม้หนุ่มๆ เพราะใครที่ทำงานด้วยต้องเนี้ยบละเอียดรอบคอบ ชนิดผิดพลาดเล็กน้อยไม่ได้ หาก มร.ดิบบ์ ดูถูกดูแคลนลูกน้องที่ทำงานบางคนว่า ไม่ได้เรื่องได้ราว เรื่องนั้นถือว่าจิ๊บจ๊อยเมื่อเปรียบเทียบกับความเห็นที่เขามีต่อผู้จัดการทั่วไปที่กรุงเทพฯ หรือสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ด้วยคุณลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครเช่นนี้ ถึงแม้ มร.ดิบบ์ มีความรู้ความสามารถ มีอาวุโสเงินเดือนขณะนั้น 1,100 รูปีสูงกว่าใครๆในบริษัทฯ แต่เขากลับไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปที่กรุงเทพฯ หรือแม้แต่ผู้จัดการสถานีของเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่[i]

(หมายเหตุ: หนึ่งในนายห้างป่าไม้ที่แพร่ ขณะที่ มร.ดิบบ์ เป็นผู้จัดการที่นั่นคือ มร.คิวริเปอล์ (Queripel) บุคคลผู้นี้ย้ายออกจากแพร่มาเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2451 และต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้จัดการสถานีเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2456 ภายหลังก่อนเกษียณอายุจากบริษัทบอมเบย์ฯ เขาได้สร้างตึกทรงโคโลเนียลที่ตีนดอยสุเทพ ที่รู้จักกันในชื่อ บ้านหลิ่งห้า’ หรือ 'เฮือนลุงคิว' ราวปี พ.ศ.2467-2468 ปัจจุบันอาคารหลังนี้เปิดให้เข้าชม โดยเป็นส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ ของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http;//art-culture.cmu.ac.th)


[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561); กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้ยุคสุดท้ายในล้านนา (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2563); Campbell, R, Teak Wallah (Oxford: Oxford University Press, 1986); Le May, An Asian arcady (W. Heffer, 1926); Williams, Leigh, Jungle Prison (Andrew Melrose, 1954)