เขตอำเภอติรุเนลเวลิ ในอินเดียตอนใต้ ดัดแปลงจากหนังสือ John Thomas missionary to south India (ISPCK, Delhi, 2010 ของ William Kemm
ป้ายก่อปูนถาวรติดไว้ที่กำแพงโบสถ์เซนต์ปอลเพื่อสดุดี แอชตัน ดิบบ์ บุตรเขยของจอห์น โทมัส ป้ายนี้เป็นหนึ่งในป้ายที่ปรากฏในโบสถ์แห่งนี้ นอกเหนือจากป้ายของ จอห์น โทมัส ผู้สร้างโบสถ์ และของภรรยาและบุตรชายคนโตของเขา (เอื้อเฟื้อภาพจาก Kutty Jaskar)
แอชตัน ดิบบ์ (Rev. Ashton Dibb) บาทหลวงนักวิชาการด้านทมิฬ
บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ เป็นบุตรคนที่สามของ เอ็มมานูเอล ดิบบ์ (Emmanuel Dibb) เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2372 ที่เมืองฮัล ตอนเหนือของอังกฤษ ต่อมาในปีพ.ศ. 2394 ได้เข้าเรียนใน ‘วิทยาลัยผู้เผยแพร่ศาสนาของโบสถ์’(Church Missionary College) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงดูแลโบสถ์โดยบิชอปแห่งลอนดอนในปี พ.ศ. 2397 ท่านเดินทางสู่เมืองติรุเนลเวลิ ประเทศอินเดียเมื่อปีพ.ศ. 2398 และได้รับการอุปสมบทเป็นนักบวชโดยบิชอปแห่งมาดราสในปีพ.ศ. 2399
บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ แต่งงานครั้งแรกกับ อลิซ วิคตอเรีย (Alice Victoria) ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2402 ที่เมืองปาลายัมกอตเต ต่อมาจึงได้แต่งงานเป็นครั้งที่สองกับบุตรสาวของบาทหลวง จอห์น โทมัส (John Thomas) แห่งหมู่บ้านเมกะนันนะปุรัมนามว่า แมรี่ เจน โทมัส (Mary Jane Thomas) และได้ประจำที่อำเภอติรุเนลเวลิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2399-2419 โดยย้ายไปประจำตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น ปาลายัมกอตเต เมกะนันนะปุรัม ซาดานากุลัม อศิรวะเดปุรัม จนภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการประจำอำเภอ และเลขานุการของสภาจังหวัด (ท่านกลับไปประจำที่โบส์เมืองฮัล(hull infirmary) อังกฤษ ช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่าง พ.ศ.2412-2414)
บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านทมิฬและเป็นผู้รวบรวมคำสอนทางศาสนา โดยวิธีถาม-ตอบ ของชาวทมิฬ อีกทั้งยังเป็นผู้รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับชาวทมิฬหลายๆ เรื่องอีกด้วย คำสอนทางศาสนาโดยวิธีถาม-ตอบนี้บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ ได้ทำการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาทมิฬในปีพ.ศ. 2405 ชื่อว่า ‘เส้นทางสายเก่า’ (The Old Path) ซึ่งยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุที่ท่านมีความรู้ด้านศาสนศาสตร์ขั้นสูง จึงได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการชำระพระคัมภีร์ไบเบิลภาษาทมิฬ และหนังสือบทสวดภาษาทมิฬ[i] ท่านไม่ได้มีเพียงความเก่งกล้าทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่มีความจริงใจและทุ่มเทให้กับศาสนาอย่างแท้จริง จากรายงานการประชุมหมอสอนศาสนาแถบอินเดียตอนใต้และซีลอน ในปี พ.ศ.2422 ได้กล่าวชัดแจ้งถึงการทำงานโดยไม่เห็นแก่ตนเองของท่านว่า
“ช่วงสามปีสุดท้ายในชีวิตของบาทหลวงแอชตัน ดิบบ์ ท่านได้อุทิศให้กับการฝึกฝนนักบวชสำหรับคณะสงฆ์ท้องถิ่น ท่านมีความพยายามอย่างมาก ที่จะชนะปัญหาต่างๆ ในการที่จะทำให้คริสตจักรท้องถิ่นสามารถดูแลตนเองได้ ท่านได้ทุ่มเทและให้ความภักดีกับงานต่างๆ ของ ‘สมาคมผู้เผยแพร่ศาสนาของโบสถ์’ เพื่อให้สำเร็จลุล่วง และใช้ชีวิตดังคติพจน์ของหมอศาสนาที่ว่า “สิ่งเดียวนี้ที่ฉันทำ”
บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ เดินทางกลับประเทศอังกฤษขณะป่วยหนักในปีพ.ศ. 2419 หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่อินเดียนานถึง 21 ปี ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2419 ที่โรงแรมแรดลีย์(Radley Hotel) เมืองเซาท์แธมตันหลังจากเดินทางถึงประเทศอังกฤษได้เพียงสองวันและก่อนที่บุตรชายคนสุดท้องนามว่า วิลเลียม เรจินัลด์ ( William Reginald) ถือกำเนิดเพียงสามวัน ทิ้งมรดกไว้ให้ครอบครัวในส่วนที่เป็นตัวเงิน 1,500 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่มากพอดูในสมัยนั้น[ii]
บาทหลวง แอชตัน ดิบบ์ และ แมรี่ เจน มีบุตรด้วยกันหกคน ดังที่ระบุไปแล้วในหัวข้อ ‘บรรพบุรุษจากอังกฤษ’ ลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวนี้คือ วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ซึ่งเกิดหลังบิดาเสียชีวิตเพียงสามวัน บุคคลท่านนี้ต่อมา ได้เข้ามาเป็นนายห้างป่าไม้ในล้านนาของสยามเป็นเวลาร่วมสิบหกปี และเป็นต้นสกุลดิบบ์ในสยาม ก่อนอาสาสมัครเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนเสียชีวิต รายละเอียดประวัติชีวิตที่โลดโผนของท่านผู้นี้ จะได้นำไปกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
[i] Vehicles of Grace and Hope: Welsh Missionaries in India 1800-1970.
[ii] http://archive.org/stream/churchinmadrasbe03penn/churchinmadrasbe03penn_djvu.txt
google book ‘The old path, Ashton Dibb