ในสมรภูมิรบฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2458 ได้มีการจัดรณรงค์ให้เกิดความรักชาติ หรือ Patriotic League ในกลุ่มชนชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของสยาม การรณรงค์ดังกล่าวจัดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วสหราชอาณาจักร ไม่เว้นแม้แต่ในต่างประเทศ ที่มีคนอังกฤษทำงานอยู่ ทั้งนี้เพื่อปลุกระดมให้เกิดความรักชาติ ให้ 'เชื่อว่า' สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามเพื่อความถูกต้อง และเป็นหน้าที่ที่คนดีมีคุณธรรมทุกคนพึงปฏิบัติในการปกป้องประเทศและครอบครัวโดยอาสาสมัครไปร่วมรบในสงคราม
ด้วยความเชื่อที่ถูกปลูกฝังอย่างขนานใหญ่เช่นนี้ จึงมีชาวอังกฤษอาสาสมัครกันอย่างล้นหลาม รวมถึงนายห้างป่าไม้ในล้านนาหลายคนก่อนหน้านั้น การอาสาสมัครไปรบ ถือเป็นเรื่องที่สังคมชาวอังกฤษยกย่องว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และได้รับการสรรเสริญ ผิดกับผู้คนซึ่งไม่เข้าไปสมัครเป็นทหารระหว่างสงคราม ที่จะต้องทนกับการถูกเย้ยหยั่นถากถางในวงสังคม
ดังนั้นนายห้างป่าไม้อย่าง มร.ดิบบ์ คงมีความกดดัน และยากลำบากในการตัดสินใจ ระหว่างอยู่ทำงานต่อไปในล้านนา เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนเอง พร้อมกับดูแลครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ ที่ยังเล็ก หรืออาสาสมัครเข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้น การตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งของเขา คงเป็นเรื่องยาก ดังที่ีนักกวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เคยเขียนบรรยายความรู้สึกของชาวอังกฤษ ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้ว่า
“การจะเข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้นคือการเดินเข้าสู่ขุมนรก แต่การไม่อาสาสมัครเข้าสู่สงครามก็เป็นขุมนรกไม่แพ้กัน (It will be Hell to be in it, and Hell to be out of it)”
แต่ในที่สุด มร.วิเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 แม้ขณะนั้นเขาอายุถึง 39 ปีแล้ว มร.ดิบบ์ ขอลาพักงานกับบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้งคอร์ปอเรชั่น โดยรับเงินเดือนครึ่งเดียว (1100/2 รูปี) และออกเดินทางจากเมืองแพร่ในปลายเดือนกันยายนไปยังเมืองโคลัมโบของศรีลังกา จากนั้นจึงโดยสารเรือชื่อ ‘เอส เอส มาโลจา’ ที่มาจากซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ
ในเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าสู่อังกฤษที่เมืองพลีมัธ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มร.ดิบบ์ ได้ขีดฆ่าข้อความที่ระบุว่า ‘อังกฤษเป็นถิ่นพำนักถาวรที่ตั้งใจไว้ในอนาคต’ แต่เลือกข้อความว่า ‘ต่างประเทศ’ แทน ซึ่งอาจตีความได้ว่าเขาตั้งใจจะกลับมาหาครอบครัวในสยามอีก หากสามารถรอดชีวิตจากสงครามมาได้
เมื่อเดินทางมาถึงกรุงลอนดอน มร.ดิบบ์ ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และหลังจากได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน จึงได้ติดยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 โดยประจำอยู่ในหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB (X 37th Trench Mortar Battery) สังกัดหน่วยทหารปืนใหญ่ของกองพลที่ 37
สำหรับหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB นี้เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในกองพลที่ 37 ในเดือนเดียวกันนั่นเอง หน่วยนี้มีอาวุธประกอบ ด้วยปืนครกขนาดกระบอกปืนปานกลาง(2นิ้ว)จำนวนสี่กระบอก ซึ่งมีลูกปืนเป็นโลหะทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว โดยมีก้านยาวกว่า 20 นิ้ว สำหรับการจัดกำลังพลของหน่วย ‘ปืนครกสนามเพลาะขนาดปานกลาง’ ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรจำนวนสองคน จ่าทหารหนึ่งคน นายสิบสี่คน พลทหารสิบหกคน และคนรับใช้พลเรือนของนายทหารอีกสองคน รวมเป็นทั้งหมด 25 คน
หลังจากหน่วยทหาร X 37th TMB ก่อตั้งแล้ว หน่วยนี้ได้เข้าร่วมสงครามครั้งแรกในศึกใหญ่ที่เรียกว่า ‘ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme)’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2459 กินเวลาเกือบห้าเดือน โดยเป็นศึกระหว่างกองทัพเครือจักรภพอังกฤษ ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพฝรั่งเศส รบกับกองทัพเยอรมัน ที่ก่อนหน้านั้นตั้งประจัญหน้ากันมานานเกือบสองปี โดยทั้งสองฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะในบริเวณที่ตนเองยึดครองเป็นแนวยาว ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเหนือของเบลเยียม พาดผ่านตอนเหนือของฝรั่งเศส ไปจนจรดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในบริเวณแนวหน้าเหล่านี้ยังมีป้อมค่ายปืนกล ปืนใหญ่ ตั้งประจำในจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ตลอดแนวซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘แนวรบฝั่งตะวันตก’
สนามเพลาะของทั้งสองฝ่ายขุดเป็นคูลึกท่วมหัว เสริมด้วยถุงทรายเป็นชั้นๆ มีแนวยาวขนานซ้อนกันหลายแนว มีทั้งสนามเพลาะที่ขุดในแถวหน้าสุด ที่ทหารจะสับเปลี่ยนกำลังอยู่ประจำ เพื่อประจัญหน้ากับศัตรูตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน และยังมีสนามเพลาะที่ขุดไว้สำหรับทหารที่เตรียมเสริมหรือสับเปลี่ยนกำลังในแนวหลังอีกหลายแนว โดยมีคูที่ขุดตั้งฉากกับแนวสนามเพลาะเหล่านี้ เพื่อใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร การลำเลียงพล อาวุธ กระสุน ตลอดจนการจัดส่งเสบียง
พื้นที่ระหว่างสนามเพลาะแถวแรกของทั้งสองฝ่ายที่ประจัญหน้ากันอยู่ ซึ่งบางแห่งห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร เรียกว่า ‘เขตปลอดคน (No Man’s Land)’ ด้านหน้าสนามเพลาะแถวแรกของแต่ละฝ่ายในพื้นที่ ‘เขตปลอดคน’ มีการวางรั้วลวดหนามเป็นแนวยาวระเกะระกะเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันการบุกเข้ามาของศัตรู
ชีวิตในสนามเพลาะ เป็นชีวิตที่หฤโหดเหนือคำบรรยาย นอกจากต้องเสี่ยงกับอันตรายจากคมอาวุธของศัตรูแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็นับเป็นอันตรายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งนี้เพราะสนามเพลาะ คือที่อาศัยของหนูนับล้านๆ ตัว ซึ่งนำไปสู่การปนเปื้อนของเครื่องอุปโภคบริโภคจนทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเสมอ นอกจากหนูแล้วยังมีเห็บ หมัด ปรสิตสุดสยองทุกชนิดที่แพร่กระจายซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเสื้อผ้าของทหารที่ไม่ได้ซักมาเป็นแรมเดือน
สำหรับกลิ่นสาบที่ปล่อยออกมาจากสนามเพลาะนั้น เป็นกลิ่นที่ยากจะบรรยาย ทั้งกลิ่นก๊าซพิษที่ลอยเอื่อยเฉื่อย ปกคลุมอยู่ในอากาศ กลิ่นโคลนผสมกลิ่นของเสียจากห้องสุขา ฯลฯ แต่กลิ่นที่มนุษย์ทั้งหลายไม่อยากสูดดม แม้เทียบกับกลิ่นมรณะของก๊าซพิษ คือกลิ่นเหม็นเน่าของซากศพมนุษย์จำนวนนับพัน ที่ยังคงกระจัดกระจายอยู่ใน ‘เขตปลอดคน’
มร.ดิบบ์ ในชุดนายทหารสังกัด X 37th Trench Mortar Battery เป็นภาพที่ส่งมาจากอังกฤษให้ครอบครัวในล้านนาก่อนเสียชีวิต
มร.ดิบบ์ ในชุดนายร้อยหน่วยปืนครกสนามเพลาะสังกัดกองพลที่ 37 และพลทหารสองคนขณะซ้อมยิง ปืนครก
ทหารเตรียมพร้อมในคูสนามเพลาะก่อนปีนขึ้นสู่เขตปลอดคน (ภาพจาก The Somme Trench Museum, albert, France)
โพรงข้างสนามเพลาะซึ่งเก็บวัสดุสงครามที่จำเป็นไว้ทุกชนิด แถมหนููตัวโตและเห็บ หมัด รบกวนตลอดเวลา (ภาพจาก The Somme Trench Museum, albert, France)
ศึกแรกของมร.ดิบบ์ คือ ‘ศึกแห่งสามเหลี่ยมกอมกู (Battle of Gommecourt Salient)’ ศึกนี้เริ่มต้นขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 โดยเป็นศึกย่อยหนึ่งใน ‘ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme)’ ซึ่งเริ่มขึ้นในวันเดียวกันตลอดแนวรบฝั่งตะวันตก เมื่อเสร็จจากศึกนี้ในเวลาต่อมาเขาก็ได้เข้าร่วมศึกย่อยอีกศึกหนึ่งคือ ‘ศึกแห่งแม่น้ำอ๊องค์ (Battle of the Ancre)’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459
สำหรับศึกครั้งที่สองของ มร.ดิบบ์ ฝ่ายเครือจักรภพอังกฤษส่งทหารเข้าโจมตีพร้อมกันหกกองพลทั้งสองฝั่งแม่น้ำอ๊องค์(Ancre) มีเป้าหมายเข้ายึดหมู่บ้านกองกู(Grandcourt) ที่อยู่ในฟากตะวันออกของแม่น้ำ และยึดหมู่บ้านโบมองฮาเมล(Beaumont Hamel) หมู่บ้านโบกู(Beaucourt) และหมู่บ้านแซ(Serre) ในฟากตะวันตก ศึกนี้ใช้เวลาต่อมาจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนจึงยุติลง โดยฝ่ายอังกฤษรุกคืบยึดพื้นที่ได้ไกลสุดเพียงประมาณสองกิโลเมตร
ในการร่วมรบครั้งนั้นทำให้ มร.ดิบบ์ ได้รับเหรียญกล้าหาญระดับชั้น ‘กากบาททหาร (Military Cross)’ หรือ ‘MC’ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ในหนังสือพิมพ์เดอะลอนดอนกาเซทท์ (Supplement to the London Gazette) ในอีกเกือบสามเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 โดยได้ระบุว่า มร.ดิบบ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างห้าวหาญเพื่อปกป้องสายโทรศัพท์ ให้ยังคงสามารถใช้การได้ตลอดเวลา ภายใต้การระดมยิงอย่างหนักจากฝ่ายศัตรู
หลังจาก‘ศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme)’ สิ้นสุดลง ทหารทั้งสองฝ่ายมีการพักรบชั่วคราว ประมาณหนึ่งเดือน ในปลายปี พ.ศ. 2459 ซึ่งในระหว่างนั้นทหารเครือจักรภพอังกฤษก็เข้าประจำสนามเพลาะในพื้นที่ที่ยึดได้ตลอดแนวรบฝั่งตะวันตก เริ่มตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเหนือของเบลเยียม ผ่านมาทางเมืองอิพพ์ (Ypres) เข้าสู่ตอนเหนือของฝรั่งเศสทางด้านตะวันออกของเมืองอาฮาส (Arras) ผ่านเมืองอัลแบร์ (Albert) ยาวไปจนจรดแม่น้ำซอมม์ โดยพื้นที่ต่อจากนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพฝรั่งเศส ต่อมากองทัพเครือจักรภพอังกฤษได้เริ่มการโจมตีอีกครั้ง ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2460 โดยยืดเยื้อต่อไปจนถึงปลายปี
ร้อยตรี วิลเลียม เรจนัลด์ ดิบบ์ ซึ่งขณะนั้นอายุกว่าสี่สิบปีแล้ว ได้ร่วมรบอยู่ในกองพลที่ 37 จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นร้อยโทในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 หลังจากที่กรำศึกมาอย่างโชกโชนตลอดปีนั้น เริ่มจากบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอาฮาส (Arras) ของฝรั่งเศสใกล้พรมแดนเบลเยียมในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 จนต่อมาได้รุกขึ้นเหนือเข้าสู่สนามรบอีกหลายแห่งในบริเวณตอนใต้ของประเทศเบลเยี่ยมในช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 โดยระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคมปีนั้น มร.ดิบบ์ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ร้อยเอก คุมหน่วยทหารปืนครกสนามเพลาะเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมรบใน ‘ศึกแห่งถนนมินา (Battle of Menin Road)’ ในปลายเดือนกันยายน จนกระทั่งจบ ‘ศึกแห่งพาสเชนเดลล์ (Battle of Passchendaele)’ ในต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ณ บริเวณตอนใต้ของเบลเยียมใกล้เมืองอิพพ์ (Ypres) ติดชายแดนฝรั่งเศส
หลังการเริ่มโจมตีอย่างหนักของฝ่ายเยอรมันในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2461 กองทัพน้อยที่ 4 ในกองทัพที่ 3 ของฝ่ายเครือจักรภพอังกฤษถูกโจมตีอย่างหนักทางตอนใต้ของเมืองอาฮาส (Arras) ทำให้ต้องถอยร่นมาตั้งมั่นตามแนวรบที่เชื่อมระหว่าง หมู่บ้านอะบลันส์วิล (Ablainzeville) ในตอนเหนือ ลงมาถึงหมู่บ้านปุยซิเยอ (Puisieux) ในตอนใต้
สงครามในแนวรบด้านนี้ยืดเยื้อต่อมาจนถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2461 ในวันนั้นกองทัพน้อยที่ 4 มีการสับเปลี่ยนกำลังพลเข้ามาทดแทน โดยหนึ่งในกองพลที่เข้ามาทดแทนคือกองพลที่ 37 ต้นสังกัดของ ร้อยโทดิบบ์ แต่ต่อมาก็ถูกโจมตีโดยกองกำลังฝ่ายเยอรมันนีถึงหกกองพล ทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ด้านตะวันออกของหมู่บ้านบุกวา (Bucquoy) ให้ฝ่ายเยอรมัน อย่างไรก็ตามพอตกเย็นทางกองทัพเยอรมันได้มีคำสั่งให้ยุติการโจมตี เนื่องจากสูญเสียกำลังพลไปมาก ดังนั้นหลังจากวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2461 เป็นต้นมาสถานการณ์สู้รบในบริเวณนี้จึงสงบลงชั่วคราว
สุสานทหาร (ตำแหน่งตัวเลขในวงกลมสีน้ำเงิน)เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อย่างดี ภาพที่ตีกรอบสีแดงเป็นชื่อหมู่บ้านที่อ้างถึง ส่วนที่ตีกรอบสีดำคือบริเวณที่ศพ มร.ดิบบ์ ถูกนำไปฝัง(ภาพจากเอกสารของ Commonwealth War Graves Commission)
ภาพสันเขาฮอว์ธอนซึ่งเคยเป็นที่ตั้งป้อมปืนเยอรมัน หลังหมู่ต้นไม้บนสันเขาคือปากหลุมขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากแรงระเบิดกว่า 18 ตันที่ฝ่ายอังกฤษแอบขุดอุโมงเข้าไปวางใต้ป้อมปืน เพื่อทำลายป้อมปืนแห่งนั้นถึงสองครั้งและเป็นสัญญาณการเริ่มเข้าตีในเช้าตรู่วันที่ 1 กรกฏาคมในศึกแห่งแม่น้ำซอมม์ และอีกครั้งในวันที่ 13 พฤศจิกายนในศึกแห่งแม่น้ำอ๊องค์
ภาพจากสันเขาฮอว์ธอน ที่เห็นยอดแหลมของโบสถ์ห่างไปทางตะวันออกประมาณ 300 เมตร คือหมู่บ้านโบมอง ฮาเมล ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการเข้ายึดจากฝ่ายเยอรมันในศึกแห่งแม่น้ำอ๊องค์
แนวหน้าระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรกับเยอรมันตั้งแต่เริ่มสงครามเมื่อพ.ศ.2457 จนกระทั่งมีข้อตกลงหยุดยิงในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 บริเวณที่ตีขอบสีแดงคือพื้นที่ที่ มร.ดิบบ์ เช้าร่วมรบ (ภาพจากเอกสารของ Commonwealth War Graves Commission)
บทกลอนสดุดีความเสียสละและความกล้าหาญของบิดาเขียนโดย กาเบรียล หมอก ดิบบ์ ซึ่งเก็บรักษาไว้โดยเรจินา ดิบบ์ หลานของ
กาเบรียล
สุสานทหาร เบียนวิลแล ตอนเหนือ ของฝรั่งเศสในปัจจุบัน ที่ฝังศพ ร้อยเอกวิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์
พิธีเปิดอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายในสถานทูตอังกฤษกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2466
ที่อนุสาวรีย์มีชื่อผู้เสียชีวิตชาวอังกฤษที่ไปจากสยาม 25 คน หนึ่งในนั้นคือ วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ปัจจุบันอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ถูกย้ายไปที่สโมสรอังกฤษ
ศึกสุดท้ายของ มร.ดิบบ์ และของสงคราม
อีกประมาณหนึ่งเดือนเศษต่อมา ฝ่ายเยอรมันนีได้เริ่มโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้ง ในชื่อที่รู้จักกันว่า ‘การโจมตีแถบแม่น้ำเอน (Aisne Offensive)’ โดยเริ่มขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 ในวันนั้นปืนใหญ่มากกว่า 4,000 กระบอกของฝ่ายเยอรมัน ได้ระดมยิงสู่แนวสนามเพลาะของทหารเครือจักรภพอังกฤษและฝรั่งเศส อย่างหนักหน่วงตลอดแนวรบ มร.ดิบบ์ ที่ขณะนั้นรักษาการร้อยเอก ทำหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยปืนครกสนามเพลาะ X 37th TMB ภายใต้สังกัดทหารปืนใหญ่สนามของกองพลที่ 37 ได้ตั้งมั่นอยู่ในบริเวณฟากตะวันตกของแม่น้ำอ๊องค์(Ancre) น่าจะไม่ห่างจากหมู่บ้านบุกวา (Bucquoy) มากนัก
ในวันนั้นหน่วยปืนครกสนามเพลาะของ ร้อยเอกดิบบฺ์ ถูกกระหน่ำยิงอย่างหนักหน่วง ดังนั้นท่ามกลางเสียงคำรามที่กึกก้องของระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ที่มีมาไม่ขาดสาย ภายในสนามเพลาะจึงเต็มไปด้วยความสับสน ชุลมุนวุ่นวาย จากผลของระเบิดที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนในที่สุดเศษกระสุนจากลูกปืนใหญ่หลายเม็ด รวมถึงเศษดินและชิ้นส่วนวัสดุที่แตกกระเจิงจากแรงระเบิด ได้พุ่งเข้าเจาะร่างของ ร้อยเอกดิบบ์ หลายแห่งจนกระเด็นไปกองกับพื้นด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ท่ามกลางฝุ่นควันที่ฟุ้งตลบอบอวล ไม่นานต่อมาร่างที่เต็มไปด้วยเลือด และเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นดินขะมุกขะมอมของเขา ก็ถูกนำส่งไปถึงหน่วยพยาบาลสนามใกล้ที่สุดด้วยความทุลักทุเล
แม้ว่า ร้อยเอกดิบบ์ จะเป็นนักสู้ที่เข้มแข็งทรหดอดทนเพียงใด สุดท้ายพิษบาดแผลที่เขาได้รับ ก็ฉกรรจ์เกินกว่าที่มนุษย์ปุถุชนจะสามารถรับได้ ทำให้ต้องจบชีวิตลงด้วยอาการเจ็บปวดทรมานในวันเดียวกัน การเสียชีวิตครั้งนั้นได้ถูกรายงานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2461 โดยนายทหารผู้บังคับบัญชาของหน่วยพยาบาลสนาม สังกัดกองพลที่ 62 (2/1 W.R. Field Ambulance) ทั้งนี้ได้ระบุสาเหตุการตายว่า ‘จากบาดแผลที่ได้รับขณะสู้รบ’
หลังเสียชีวิตร่างของ ร้อยเอกวิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ จึงถูกนำไปฝังที่ ‘สุสานทหารเบียนวิลแล’ (Bienvillers Military Cemetery) ห่างจากหมู่บ้านบุกวา (Bucquoy) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร บรรดาเพื่อนและผู้บังคับบัญชาของ ร้อยเอก ดิบบ์ ได้กล่าวสดุดีการเสียสละชีวิตครั้งนั้นไว้ในหนังสือพิมพ์ไทมส์อีกสามสี่วันหลังจากได้รับรายงานการเสียชีวิต โดยเพื่อนนายทหารคนหนึ่งเขียนไว้ว่า
“ด้วยความกล้าหาญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ความมีประสิทธิภาพและพลังงานที่เหลือเฟือ การมีอารมณ์แจ่มใสมั่นคง ไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ใด คุณสมบัติเหล่านี้ดูเหมือนเขามีในตัวเองทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ชายชาวอังกฤษ ให้การยกย่องอย่างสูง”
ส่วนผู้บังคับบัญชากล่าวว่า
“บุคคลผู้นี้ไม่รู้จักคำว่ากลัว มีความมั่นคงในอารมณ์อย่างยิ่ง ในทุกเงื่อนไข เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด เขารักและช่ำชองในหน่วยปืนครกสนามเพลาะ คิดและทำเพื่อหน่วยฯ เสมอ”
ศึกที่เริ่มในบริเวณแม่น้ำเอนในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นครั้งที่สามในบริเวณแถบนี้ ถือเป็นศึกช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยหลังจากนั้นอีกไม่นานสงครามก็สิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ดังที่กล่าวไว้ในเอกสารของคณะกรรมการสุสานสงครามเครือจักรภพ
“ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2461 กองกำลังเครือจักรภพอังกฤษ ได้เผชิญหน้ากับการโจมตีอย่างหนักหน่วงด้วยกำลังที่เหนือกว่ามากของฝ่ายเยอรมัน จนผลักดันให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ถอยร่นสู่แม่น้ำมาน(Marne) มีการสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมากก่อนที่ฝ่ายเครือจักรภพฯและสัมพันธมิตร จะตีโต้กลับในต้นเดือนสิงหาคม จนสามารถผลักดันทหารเยอรมันให้ถอยร่นกลับไป และนำมาสู่ชัยชนะของสงครามในที่สุด”
เป็นที่น่าเสียใจว่า ร้อยเอกวิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ต้องมาเสียชีวิตลงทั้งที่สามารถยืนหยัดต่อสู้ในสงครามที่โหดร้ายนี้มาแล้วกว่า 2 ปี และสงครามครั้งนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ห้าเดือนที่ตัวเขาจะได้มีโอกาสกลับมาสู่ครอบครัวในสยามอีกครั้ง ดังที่เคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ในเอกสารตอนเข้าสู่สหราชอาณาจักรที่เมืองท่าพลีมัธเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2458 แต่สุดท้ายก็ไม่อาจสมหวังด้วยความโหดร้ายของสงครามสนามเพลาะ ที่ไม่เคยปราณีใคร
หลังจาก ร้อยเอกวิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เสียชีวิต ทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของเขา ซึ่งมีมูลค่า 2,171 ปอนด์ 1 ชิลลิง ได้ถูกยกให้ นาวาโท ฮิวจ์ แมคนีลดิบบ์ พี่ชายและ พันโท จอร์จ อิงเกิลตัน ฟิลลิปส์ (George Ingleton Phillips) สามีของพี่สาว แคทเธอรีน ไอรีน (Catherine Irene) เป็นผู้ร่วมจัดการมรดก และต่อมาภายหลัง เกเบรียล หมอก ดิบบ์ บุตรชายคนโตของเขาได้เขียนบทกลอนสดุดีความเสียสละและความกล้าหาญของบิดา ดังปรากฎในรูป[i]
[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561)
เอกสารมรณะบัตรอย่างเป็นทางการของ มร. ดิบบ์ (เอื้อเฟื้อภาพจาก Joseph Dibbayawan)
ผู้เขียนที่หลุมศพคุณตา พร้อมภรรยา และบุตร ที่สุสานทหาร เบียนวิลแล ตอนเหนือของฝรั่งเศส