ฝรั่งหนุ่มในเมืองละกอน
ไม่นานหลังสำเร็จการศึกษาที่อ๊อกซฟอร์ด มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ที่ขณะนั้นเป็นหนุ่มน้อยอายุเพิ่งย่างเข้า 21 ปี ได้จับเรือกลไฟเดินสมุทรชื่อ ‘ซิมลา (Simla)’ ออกจากกรุงลอนดอนเพื่อเดินทางไปยังประเทศอินเดียทันทีที่โอกาสอำนวยในปี พ.ศ. 2440 โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองกัลกัตตาในรัฐเบงกอล เมืองหลวงของบริติชอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีญาติพี่น้องของเขาหลายคนทำมาหากินอยู่ที่นั่น ทั้งนี้เพื่อตามหางานอาชีพที่เขาเชื่อว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนเอง ที่เป็นคนชอบกีฬาและรักชีวิตการต่อสู้ผจญภัย โดยได้ไปสมัครสอบบรรจุเป็นนายตำรวจประจำรัฐเบงกอล (Bengal Superior Police Officer) ของบริติชอินเดีย อาชีพที่น้าของเขาที่เป็นนายตำรวจของเมืองมัทราส เคยเล่าให้ฟังสมัยเด็กตอนอยู่ลอนดอน
หลังจากรอคอยการประกาศผลสอบบรรจุเป็นนายตำรวจมาระยะหนึ่ง เมื่อกำหนดเวลามาถึงในต้นปี 2441 มร. ดิบบ์ ต้องพบกับความผิดหวังอย่างแรง โดยเขาสอบได้เป็นที่สี่ขณะที่ทางการต้องการรับเพียงสามตำแหน่ง แต่เขาก็ยังคงไม่ลดละความตั้งใจเดิมและกะว่าจะลองรอสอบดูใหม่อีกสักครั้ง อย่างไรก็ตามในขณะที่รอสอบรอบใหม่ เขากลับได้รับการตอบรับให้เข้าทำงานกับบริษัทป่าไม้ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘บอมเบย์เบอร์ม่า’ ที่ได้ไปสมัครสำรองไว้ก่อนหน้านั้นในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการป่าไม้ตอนเหนือของประเทศสยาม
แน่นอนว่างานเช่นนี้ตรงกับนิสัยของเขา และท้าทายไม่น้อยไปกว่าการเป็นตำรวจจับผู้ร้าย มร. ดิบบ์ จึงตัดสินใจเลือกอาชีพเป็น ‘นายห้างป่าไม้’ แทนการเป็นตำรวจในอินเดียตั้งแต่บัดนั้น จากนั้นเขาจึงถูกส่งขึ้นเรือข้ามอ่าวเบงกอลมาประจำที่เมือง ‘ละกอน’ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าลำปาง หัวเมืองล้านนาแห่งหนึ่งของประเทศสยาม โดยเดินทางผ่านมาทางเมืองมะละแหม่งของพม่าที่ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกับอินเดีย
เมืองละกอนขณะที่ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เดินทางมาถึงในปีพ.ศ. 2442 เพิ่งมีเจ้าหลวงองค์ใหม่มาได้สองปี โดยรัฐบาลสยามแต่งตั้งให้ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ที่ขณะนั้นอายุได้ 40 ปีขึ้นเป็นเจ้าหลวง แต่เป็นเจ้าหลวงภายใต้ระบบมณฑลเทศาภิบาล ที่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเจ้าหลวงยังคงเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และที่สำคัญยังเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน อีกทั้งสมัยนั้นเจ้าหลวงยังร่ำรวยเงินทอง มีรายได้จากตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงค่าตอไม้จากป่าสัมปทานในเขตพื้นที่เมืองละกอนรวมเฉลี่ยปีละประมาณ 180,000 บาท
เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตฯ ได้ชื่อว่าเป็นนายห้างป่าไม้คนหนึ่งของล้านนา เพราะเป็นเจ้าของสัมปทานที่ป่าแม่ต้าและป่าเมืองลอง ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ในเขตอำเภอลอง จังหวัดลำปาง (ปัจจุบันย้ายมาขึ้นกับจังหวัดแพร่) แต่ต่อมาได้ทำสัญญาทางธุรกิจในป่าแห่งนี้ กับบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันในภายหลัง ก่อนที่พระองค์จะถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2465
ขณะเมื่อหนุ่มน้อย วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เข้ามาถึงเมืองละกอนในปี พ.ศ. 2442 นั้นบริษัทบอมเบย์ฯ มีป่าในขอบเขตเมืองละกอนอยู่เจ็ดป่า ป่าที่สำคัญคือป่าผืนใหญ่ส่วนต้นแม่น้ำวัง นอกจากนั้นบริษัทยังได้ทำสัญญากับ มร. หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ นักธุรกิจวัยกลางคนผู้มีกิจการหลายอย่างในสยาม ซึ่งในปลายปีพ.ศ.2442 ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองละกอนพร้อมภรรยาสาวน้อย รีต้า เมย์ แมคลอกช์เลน (Reta May Maclaughlan) โดยในสัญญาดังกล่าว เลียวโนเวนส์ ต้องส่งไม้จากป่าแม่พริกให้บริษัทบอมเบย์ฯ (แท้จริงแล้วเจ้าของสัมปทานป่าแม่พริกคือชาวมอญชื่อ หม่องจันโอง แต่เขาได้ทำสัญญาธุรกิจกับ เลียวโนเวนส์ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์ในป่านี้แทน หม่องจันโอง ผู้นี้คือเจ้าของบ้านที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘บ้านเสานัก’ ในลำปาง) และ เลียวโนเวนส์ ยังต้องขายไม้ในป่าทั้งหมดที่เขามีในสยามให้กับบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม เลียวโนเวนส์ กับบริษัทบอมเบย์ฯ กลับมีปัญหากันในภายหลัง จนบริษัทฯต้องยกเลิกสัญญาในปลายปี พ.ศ. 2444 และนำไปสู่การฟ้องร้องกันในที่สุด นอกจาก เลียวโนเวนส์ แล้วในละกอนขณะนั้นยังมีฝรั่งนายห้างป่าไม้ ทั้งจากบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทสยามฟอเรสต์ และบริษัทบริติชบอร์เนียว รวมถึงชาวอังกฤษที่ทำงานกับกรมป่าไม้สยามอีกประมาณสิบกว่าคนประจำอยู่ในเมืองนี้