ชีวิตครอบครัวของ มร.ดิบบ์ ในล้านนา
เมื่อไปประจำที่เมืองแพร่ใหม่ๆ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ได้ภรรยาคนใหม่ชื่อว่า หนู ซึ่งเป็นบุตรของ พ่อเฒ่าหมู และ แม่เฒ่าไฝ ชาวพื้นเมืองล้านนา นางสาวหนู ขณะนั้นเป็นสาวสะพรั่งอายุ 19 ปี มีรูปร่างเล็กอ้อนแอ้น อ่อนโยน ตามลักษณะของคนล้านนาสมัยนั้น แต่เนื่องจาก มร.ดิบบ์ มีลูกชายหนึ่งคนติดมาจากภรรยาคนแรกที่เลิกรากันไปแล้ว นางหนู จึงต้องรับภาระเป็นผู้เลี้ยงดู เกเบรียล หมอก ดิบบ์ (Gabriel Mawk Dibb) ลูกชายคนแรกของสามีไปด้วย
การอยู่กินเป็นสามีภรรยาของคนทั้งสองคงไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าสำหรับหญิงชาวพื้นเมืองการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้จัก ทั้งนี้เพราะในสยามเวลานั้นยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องนี้ การจดทะเบียนสมรสของสามัญชนชาวสยาม เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 หลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว แต่สำหรับชาวอังกฤษการแต่งงานให้ถูกกฎหมาย ต้องไปจดทะเบียนที่สถานกงสุลเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม่ดูเหมือนว่าการจดทะเบียนแต่งงานของหนุ่มชาวอังกฤษกับสาวชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ อาจทำให้ทั้งคู่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมชาวยุโรปในสมัยนั้น
หลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงทัศนคติเช่นว่านี้มาจากหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง ที่เขียนเกี่ยวกับ มร.หลุยส์ โทมัส เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Leonwens) ในหนังสือเล่มนี้ได้อ้างถึงจดหมายติดต่อระหว่าง รองกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ขณะนั้นกับเจ้าหน้าที่อังกฤษในพม่า ซึ่งในจดหมายของรองกงสุลท่านนี้ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ หลุยส์ หลังจากที่เขาเพิ่งสูญเสียภรรยาคนแรกไปใหม่ๆ ก่อนที่จะมาแต่งงานกับ ริต้า เมย์ แมคลอกช์เลน (Reta May Maclaughlan) โดยเขาได้ระบุในจดหมายด้วยประโยคเด็ดที่น่าขบคิดไว้ว่า
“หลุยส์กำลังจะเปลี่ยนเป็นคนพื้นเมืองไปแล้ว”
เหตุผลที่มาของประโยคเด็ดในจดหมายฉบับนั้นเกิดจากการที่รองกงสุลท่านนี้ไปพบว่า หลุยส์ นั่งรถม้าอย่างเปิดเผยไปทำบุญที่วัดพุทธแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กับสาวเชื้อเจ้าชาวละกอนคนหนึ่งพร้อมกับน้องสาวของนาง โดยขณะนั้นสังคมชาวเชียงใหม่รับรู้กันว่า หลุยส์ ได้ยกย่องสาวชาวพื้นเมืองผู้นี้เป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา ประโยคนี้จึงแฝงไว้ด้วยความหมายซึ่งไม่ยากที่จะตีความ หากพิจารณาจากการกระทำที่ตามมาของรองกงสุลท่านนี้ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นคงเป็นส่วนหนึ่งทำให้เขา ไม่เชิญให้ หลุยส์ ไปบ้านของเขาอีกแม้จะเคยเป็นเพื่อนสนิทสนมกันมาแต่เดิม
นอกจากจดหมายฉบับดังกล่าวของรองกงสุลอังกฤษแล้ว ยังมีข้อความอีกหลายแห่งในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติในเชิงลบของสังคมชาวยุโรป ต่อการอยู่กินฉันสามีภรรยาของเพื่อนชาวอังกฤษของพวกเขากับสาวพื้นถิ่นล้านนา ดังเช่นกรณีที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง มร.เดวิด เฟลมมิ่ง แมคฟี (Mr.David Fleming Macfie) ผู้จัดการป่าไม้คนแรกของบริษัทบริติชบอร์เนียว ที่แต่งงานอย่างเป็นทางการในสถานกงสุลอังกฤษ กับผู้หญิงล้านนาคนหนึ่ง เมื่อเขาอายุได้ 43 ปีหลังจากที่อยู่กินด้วยกันเป็นสามีภรรยาจนมีลูกแล้วถึงสามคน แต่หลังแต่งงานกลับไม่มีเพื่อนชาวยุโรปคนใดให้เกียรติไปเยี่ยมเยือน แสดงความยินดีกับเขาและภรรยาเลย ซึ่งทำให้ตัวเขารู้สึกผิดหวังและเสียใจมาก
นอกจากนั้นยังมีข้อความ ที่เป็นคำสั่งสอนของนายห้างป่าไม้อาวุโส ต่อนายห้างฯที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วงคริสต์มาสปีหนึ่ง ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือของ ลีห์ วิลเลียมส์ (Leigh Williams) นายห้างป่าไม้สมัยต้นคริสตวรรษที่20 โดยนายห้างฯอาวุโสผู้นั้นกล่าวว่า:
“คุณจะไม่เชื่อเลยว่าพวกเขาต้องจ่ายให้สาวชาวบ้านพวกนี้ไปเท่าไหร่ พวกเขาอ่อนไหวเกินไป ที่ไปหลงใหลให้เกียรติคนพวกนี้ แทนที่จะถือว่าพวกนางเป็นเพียงผีดูดเลือดที่ต้องมีไว้ใช้ยามจำเป็น หญิงพวกนี้แม้หล่อนจะรู้วิธีป้องกันการมีบุตรดีกว่าชาวบ้านคนอื่น แต่เธอจะพยายามมีลูกให้เร็วที่สุด พวกหล่อนเชื่อว่าจะเป็นสิ่งดึงดูดไห้คุณอยู่กับเธอ หลังจากนั้นแน่นอน ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า อาหาร การศึกษา สำหรับเด็กๆ ทำไมนะหรือ? ก็เพราะว่าเขาเหล่านั้นบางคนยังอุตส่าห์ส่งเด็กๆ เหล่านี้ไปเรียนถึงยุโรป เพราะฉะนั้น จงระวังตัวไว้หนุ่มน้อย! มิฉะนั้นคุณจะกลายเป็น พ่อที่ไม่ภาคภูมิใจในตัวเองเลย"
แต่ไม่ว่าสังคมรอบข้างจะมีทัศนคติเช่นใรก็ตามในที่สุด มร.วิลเลียม ดิบบ์ และ นางหนู ก็อยู่กินด้วยกันจนมีลูกคนแรกเป็นหญิง ชื่อว่า ไดแอน (Diane) ชื่อไทยว่า ดอกเอื้อง ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2449 แต่หลังจากนั้นทั้งคู่กลับต้องประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญสองครั้งติดๆกัน โดยลูกชายคนถัดมาได้เสียชีวิตลงขณะที่อายุไม่กี่ขวบ และอีกไม่นานจากนั้นลูกผู้หญิงอีกคนที่เกิดตามมาก็เสียชีวิตลงอีก มร. ดิบบ์ ได้นำร่างลูกหญิงคนนี้ ไปฝังไว้เป็นเพื่อนใกล้ๆ กับพี่ชายของเธอ ที่ริมฝั่งแม่น้ำยม แต่ปัจจุบันไม่มีป้ายหลุมศพเหลือเป็นอนุสรณ์ให้จดจำอีกแล้ว เพราะร่างของพี่น้องทั้งคู่ได้ล่องลอยไปกับสายน้ำสู่สุคติชั่วนิรันดร์ ด้วยแรงกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำยม
ต่อมาก่อนที่ มร.ดิบบ์ จะอาสาสมัครสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพียงสามเดือน นางหนู ก็ให้กำเนิดลูกสาวแก่เขาอีกคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาบุตรสาวคนนี้ได้รับการตั้งชื่อภาษาไทยว่า มาลี [i]
[i] กิตติชัย วัฒนานิกร, นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน (สันตภาพแพ็คพริ้นท์, 2561)
เกเบรียล หมอก ดิบบ์ กับลูกทั้งเก้าคนก่อนเสียชีวิตในปี พ.ศ.2491ไม่นาน (เอื้อเฟื้อรูปจาก Joseph Dibbayawan)
ดอกเอื้อง (ดิบบ์)วรธรรมขณะอายุราว 58 ปี กับลูกหลาน จากขวา สรวย ทวีศักดิ์ ปราณี (ภรรยาศิลป) ดอกเอื้อง สันติพงษ์ แรม และ นิภา (ภรรยาสรวย) กับหลานย่า สุนิศา (น้องนาย) ต่อมาสรวยประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน
ลูกๆหลานๆของ มร.ดิบบ์
ในยุคนั้นผู้คนมักจะเรียก นางหนู ว่า ‘แม่เลี้ยงหนู’ หรือ ‘แม่เลี้ยงขี้หนู’ ซึ่งแสดงว่านางได้รับการยอมรับนับถือ และมีสถานะทางสังคมล้านนาระดับสูงพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนทั้งฝรั่งทั้งไทยในสมัยนั้นยังคงมีความคิดคับแคบ มองการร่วมชีวิตคู่ของผู้หญิงล้านนากับฝรั่งต่างชาติต่างภาษาในเชิงลบ มุมมองเช่นนี้คงสะเทือนใจบรรดาลูกๆ ของผู้หญิงชาวล้านนาที่ร่วมชีวิตคู่อย่างเป็นหลักเป็นฐานกับฝรั่งเหล่านั้นไม่น้อย
บุตรชายคนโตของ มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ผู้เป็นลูกเลี้ยงของ นางหนู ที่ชื่อ เกเบรียล หมอก ดิบบ์ (Gabriel Mawk Dibb) เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2445 เพียงไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์กบฎเงี้ยว สมัยยังเด็กเข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ คาเบรียล กรุงเทพฯ เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้าทำงานที่สถานทูตอังกฤษ ต่อมาแต่งงานกับ แมรี่ แม็กดาลีน สังวาล กรอส (Mary Magdalene Sangwan Gross) ซึ่งเป็นบุตรสาวของชาวเยอรมัน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
ทั้งคู่ มีบุตรด้วยกัน 9 คน คือ เกเบรียล วิเฟรด จิตต์ (2469-2560), เฟรดเดอร์ริก เรจินัลด์ นิมิตมงคล (2471-2531), ฟรานซิส วิลเลียม วิมลเลิศ (2472-2514), ลิโอโนรา ประเสริฐศรี (2474-2556), ชาลส์ ลีวีส มณีรัตน์ (2478-2513), ลิลี แอนเจลลีน มนัสเกษม, ลอเลนส์ เปรมปรีชา, สตีเฟน วินสตัน นรายุทธ และ วิคตอเรีย วัจนีย์
ภายหลัง หมอก ดิบบ์ ได้เปลี่ยนชื่อสกุลจาก ‘ดิบบ์’ ไปเป็นชื่อสกุลไทยว่า ‘ทิพยวาน’ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ‘รัฐนิยม’ สมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม แต่สำหรับผู้สืบสกุลของ เกเบรียล หมอก ดิบบ์ ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย บางคนยังคงใช้นามสกุล ดิบบ์ ดังเดิม เกเบรียล หมอก ดิบบ์ เสียชีวิตไปเมือปีพ.ศ.2491 ส่วนภรรยา สังวาล เสียชีวิตในปีพ.ศ.2535
บุตรคนที่สองของ วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ซึ่งเป็นบุตรคนแรกที่เกิดกับ นางหนู มีชื่อว่า ไดแอน ดอกเอื้อง (Diane Dawk Eung) เกิดในปี พ.ศ. 2449 ที่แพร่ เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวัฒนาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หลังจบการศึกษาได้แต่งงานกับ นายสุทิน วรธรรม หรือชื่อพม่า โซติ่น บุตรชาย หม่องอูโป่ ชาวพม่าทำงานป่าไม้กับบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า
ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 9 คนคือ ศิลป (2468-2559), สรวย (2470-2507), บุญจิรา (2474-2560), แรม (2477-2562), ดุสิต (2480-2555), ทวีศักดิ์, สันติพงษ์, ภะคิน และ รังสรรค์ ต่อมาบุตรของ นายแรม คนหนึ่งได้กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงของไทยที่มีนามว่า วรุฒ วรธรรม, นางดอกเอื้อง เสียชีวิตไปเมื่อปีพ.ศ.2531 ส่วน นายสุทิน เสียชีวิตก่อนหน้าไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2512
บัตรประจำตัวเกเบรียล หมอก ดิบบ์ ขณะทำงานที่สถานทูตอังกฤษ (เอื้อเฟื้อรูปจาก Joseph Dibbayawan)
หลักฐานการเปลี่ยนนามสกุลของเกเบรียล หมอก ดิบบ์ ไปเป็น ทิพยวาน เมื่อปี พ.ศ.2483 (เอิ้อเฟื้อรูปจาก Joseph Dibbayawan)
สังวาลและดอกเอื้อง พี่สะใภ้กับน้องสามี ลูกครึ่งทั้งคู่ ที่เกิดปีเดียวกัน
สำหรับบุตรสาวคนสุดท้องของ มร.วิลเลียม ดิบบ์ ที่มีชื่อว่า มาลี เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ.2458 โดยมีอายุห่างจากพี่คนแรกเกือบสิบปีเพราะพี่อีกสองคนของนางได้เสียชีวิตไปสมัยยังเด็ก ต่อมา นส.มาลี ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนสตรีวัฒนาเช่นเดียวกับพี่สาวและต่อมาได้แต่งงานกับ นายเกียรติ วัฒนานิกร หนุ่มจีนนักเรียนเก่าสถาบันเซนต์เซเวียร์ เมืองปีนัง ที่สมัยนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หนุ่มคนนี้ต่อมายึดอาชีพนายห้างป่าไม้เช่นเดียวกับบิดาของเธอ ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันเจ็ดคนคือ ประภาศรี ไกรวัลย์ เฉลิมศรี ฉวีวรรณ บุญฤทธิ์ พรรณพิมล และ กิตติชัย
บุตรสาวของ มร.ดิบบ์ ท่านนี้เสียชีวิตที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2555 รวมสิริอายุได้ 97 ปี ก่อนเสียชีวิตลูกหลานมักได้ยินท่านพึมพำกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ‘พ่อคงลืมลูกสาวคนนี้ไปแล้ว’ ความรู้สึกเช่นนี้คงฝังลึกในใจมาตลอด เพราะท่านรู้จัก ‘ป้อนาย’ (พ่อโดยความหมายของคนล้านนา) เฉพาะจากการเล่าขานของพี่ๆ ไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ถึงความรักของบิดาต่อบุตรเลย เพราะตอนที่บิดาอาสาสมัครไปสงคราม ท่านมีอายุเพียงสามเดือนเศษ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นบุตรสาวท่านนี้คงมีคำถามคาใจมาตลอดชีวิตว่า ‘ทำไมบิดาต้องอาสาไปรบในสมรภูมิที่ห่างไกลเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ลูกสาวคนหนึ่งยังเล็กอยู่มาก?’
พักหลังก่อนเสียชีวิตไม่นาน บุตรสาวของ มร.วิลเลียม ดิบบ์ ท่านนี้จะชอบร้องเพลงภาษาอังกฤษเก่าแก่เพลงหนึ่งให้ลูกหลานฟัง ซึ่งเพลงนี้แปลเป็นไทยได้ว่า
“ฉันกำลังจะไปสงคราม สงครามที่ฉันต้องไป ฉันจะกลับมาหาเธอ เพื่อประเทศของฉันและเพื่อเธออันเป็นที่รัก วันที่แดดจ้าฉันจะลับสายตาไป จงจำสิ่งที่ฉันพูด และจงเป็นคนดี ที่รัก (I’m off to war, to the war I must go, To you I will return, for my country and you, dear. Bright sunny day will soon fade away. Remember what I say and be true dear)”
เพลงนี้ต้องเป็นเพลงที่ฝังอยู่ในจิต และวิญญาณของลูกสาว มร.วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ ท่านนี้ คงติดอยู่ในความทรงจำของเธอเสมอมาตั้งแต่โตพอรู้ความหลังสูญเสียบิดา
มันเป็นเรื่องยากพอแล้วสำหรับเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ต้องเติบโตมาโดยไม่มีพ่อ แต่สำหรับเด็กหญิงคนนี้มันน่าจะยากยิ่งกว่าที่บิดาเป็นชาวต่างชาติ ต่างภาษา ทำให้ตัวเธอเองกลายเป็นเด็กกำพร้า ‘ลูกครึ่ง’ ชาวล้านนา ที่ไม่มีบิดาคอยปกป้องเพียงเหตุเพราะสงคราม สงครามที่โฆษณากันว่าเพื่อชาติ เพื่อราชา แต่กลับเป็นสงครามที่นำความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้กับผู้คนนับล้านๆ แม้กระทั่งกับเด็กหญิงตัวเล็กๆ ชาวล้านนา ที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศคู่สงครามในครั้งนั้น
มาลี (ดิบบ์)วัฒนานิกร ลูกคนสุดท้องของ มร.ดิบบ์ ขณะอายุประมาณ 37 ปี
นายเกียรติและนางมาลีกับลูกห้าคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2484
นางมาลีกับลูกสามคนสุดท้องราวปี พ.ศ.2494