จอห์น โทมัส บาทหลวงคนสำคัญของอินเดียตอนใต้


จอห์น โทมัส (John Thomas) เกิดที่แคว้นเวลส์ในปี พ.ศ.2350 ศึกษาที่ ‘วิทยาลัยผู้เผยแพร่ศาสนาของโบสถ์ (Church Missionary College)’ ในอิสลิงตัน (Islington) กรุงลอนดอน ในระหว่างปี พ.ศ. 2376-2378 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงดูแลโบสถ์โดยบิชอปแห่งลอนดอนในปี พ.ศ.2378 และได้รับการอุปสมบทเป็นพระนักบวช โดยบิชอปแห่งกลอสเตอร์ ในปี พ.ศ.2379 ในปีเดียวกันนั้นจึงออกเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของบริษัท บริติช อีสอินเดีย (British East India Company) โดยไปประจำอยู่ที่หมู่บ้านเมกะนันนะปุรัม (Mengnanapuram) อำเภอติรุเนลเวลิ (Tinnevelly) ตอนใต้ของอินเดีย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[i]

บาทหลวง จอห์น โทมัส หมอสอนศาสนานิกาย ‘แองกลิคัน’ (Anglican) ท่านนี้เป็นผู้ที่มีความเคร่งครัดในศาสนา และประสบความสำเร็จหลายๆ ด้าน ท่านเป็นผู้ที่มีทักษะด้านจัดการองค์กรอย่างดีเยี่ยม ตลอดจนมีทักษะด้านดนตรีเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติเวลส์คนอื่นๆ โดยมีเสียงร้องที่ไพเราะ นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม และมีรสนิยมดีเยี่ยมในด้านการออกแบบและวางผังเมือง ในระหว่างที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเมกะนันนะปุรัมท่านได้วางผังหมู่บ้านใหม่ โดยออกแบบให้มีถนนหนทางที่กว้างขวาง แก้ไขปัญหาด้านสุขาภิบาล และก่อตั้งโรงเรียน ความสำเร็จของท่านเป็นที่เลื่องลือดังคำกล่าวของบิชอป โรเบิร์ท คาลด์เวลล์ (Robert Caldwell) และผู้ตรวจการโรงเรียนของรัฐบาลคนหนึ่ง

“เขาเป็นนักกฎหมายที่ยอดเยี่ยม....เขาเรียนรู้และปฏิบัติ ในฐานะแพทย์รักษาคนไข้ได้อย่างดีเลิศ เขายังเป็นนักร้องที่ยอดเยี่ยม ตลอดจนเป็นนักดนตรีที่เข้าถึงวิทยาการด้านดนตรีอย่างดี ในฐานะนักก่อสร้าง ก็ไม่มีใครในติรุเนลเวลิเทียบเขาได้ นอกจากนั้นเขายังเป็นนายช่างที่ฝีมือดี และยังสามารถขี่ม้า ว่ายน้ำ ได้อย่างคล่องแคล้ว มีพละกำลังมหาศาล.........ที่สำคัญยังเป็นนักบริหารที่เก่งสุดยอด” [ii]

ผู้ตรวจการของโรงเรียนกล่าวว่า

“ผมใช้เวลายุ่งอยู่กับการตรวจสอบโรงเรียนทั้งวันเมื่อวานนี้ และพบว่าโรงเรียนประจำแห่งนี้ยอดเยี่ยมที่สุด เท่าที่ผมเคยพบ” [iii]

สำหรับโบสถ์หลังใหม่ที่ท่านสร้างขึ้นที่เมกะนันนะปุรัมมีความโอ่อ่างดงามมาก โดยเฉพาะส่วนของหอแหลมที่สามารถมองเห็นได้จากระยะทางหลายไมล์ และกลายเป็นจุดสังเกตสำคัญสำหรับนักเดินทางทั้งหลาย เฮเลน แฮเรียต ฮอลคอม (Helen Harriet Holcomb) ได้เขียนชื่นชมความสวยงามตระการตาของโบสถ์หลังนี้ไว้ในหนังสือของเธอเมื่อปีพ.ศ. 2431 ชื่อว่า ‘เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับอินเดีย’ (Bits about India) โดยกล่าวไว้ว่า

“ยามแสงอรุณเบิกฟ้ารับวันใหม่ เรามองเห็นยอดแหลมของโบสถ์ สูงตระหง่านตัดขอบฟ้า สง่างามยิ่งนัก เราอยู่ท่ามกลางทะเลทรายกว้างใหญ่ที่น่าจะมีเพียงพุ่มไม้หนาม และพุ่มต้นละหุ่งที่เจริญเติบโตอยู่ได้ ต้นไม้ใหญ่เพียงชนิดเดียวที่เติบโตได้ดีคือต้นปาล์มพัลไมราแต่ในทะเลทรายแห่งนี้ กลับมีโบสถ์สไตล์กอธิค ที่มียอดแหลมสวยงาม โดยไม่ไกลจากโบสถ์มีหมู่บ้านซึ่งมีคนอาศัยอยู่น้อยกว่าหนึ่งพันคน ในหมู่บ้านแห่งนี้มีถนนกว้างสายหนึ่งตัดผ่าน โดยมีต้นปาล์มขึ้นตลอดสองข้างถนน บริเวณรอบๆโบสถ์ซึ่งเป็นพื้นทะเลทราย กลับดูร่าเริงและเบ่งบานดังกุหลาบ มีต้นไม้สวยๆ เขียวชอุ่มด้วยใบประดับ มีไม้เลื้อย และดอกไม้ที่งามสง่าอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย”

เธอยังได้กล่าวอีกว่า “มีใครบ้างไหมที่สงสัยว่าทำไมโบสถ์ซึ่งโดดเด่น และสง่างาม ตลอดจนโรงเรียนประจำเป็นที่ต้องการในพื้นที่เช่นนี้? แท้จริงแล้วในดินแดนทะเลทรายแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยต้นปาล์มพัลไมรา นับเป็นดินแดนที่พระเจ้าทรงอำนวยอวยพรอย่างยิ่ง เพราะในพื้นที่ของอำเภอเม็งนานาปูรัมแห่งเดียวมีผู้คนมากกว่า 18,000 ชีวิตที่มีความเกี่ยวข้อง และผูกพันกับกลุ่มชุมนุมทางศาสนาถึง 187 กลุ่ม มีนักเรียนในโรงเรียนต่างทั่วพื้นที่มากกว่า 4,000 คน” [iv]

นอกจากนี้บาทหลวง จอห์น โทมัส ยังได้ตระเวนเยี่ยมเยียนหมู่บ้านอื่นรอบๆ เมกะนันนะปุรัม และช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านเหล่านั้นในแบบเดียวกันแต่ในขนาดที่เล็กกว่า ในช่วงเวลานั้นเรื่องราวความทุ่มเทในการทำงานของท่านได้ถูกถ่ายทอดลงในเล่มรายงานของ ‘สมาคมผู้เผยแพร่ศาสนาของโบสถ์’ (Church Missionary Society Reports) และยังได้รับการกล่าวถึงอย่างชื่นชมในผลงานตีพิมพ์หลายชิ้นของบิชอปสเปนเซอร์แห่งมาดราสและบิชอปคอตตอน แห่งเมืองกัลกัตตา[v]

บาทหลวง จอห์น โทมัส เป็นผู้นำที่โดดเด่น มีความสามารถ และมีพรสวรรค์ ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2413 ที่หมู่บ้านเมกะนันนะปุรัมหลังจากทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมานานถึง 34 ปี ภรรยาหม้าย แมรี (Mary) และบุตรสาวที่ไม่ได้แต่งงานของท่านคนหนึ่ง ได้สานต่องานสอนศาสนา โดยบริหารจัดการโรงเรียนสตรี ‘อีเลียต ทักส์ฟอร์ด’ (Elliot-Tuxford) ต่อมาอีกหลายปี สำหรับบุตรสาวคนโตนามว่า แมรี่ เจน โทมัส (Mary Jane Thomas) ได้แต่งงานกับบาทหลวงสอนศาสนาของ ‘สมาคมผู้เผยแพร่ศาสนาของโบสถ์’ อีกคนหนึ่งนามว่า แอชตัน ดิบบ์ (Ashton Dibb)

บุตรชายคนแรกของบาทหลวง จอห์น โทมัส นามว่า จอห์น เดวีส์ โทมัส (JohnDavies Thomas) ได้เดินตามรอยเท้าพ่อ โดยกลายมาเป็นหมอสอนศาสนาเช่นเดียวกัน ส่วนบุตรชายอีกสี่คนเป็นนายแพทย์ทหารสองคน เป็นนายตำรวจหนึ่งคน และเป็นนักกฎหมายอีกหนึ่งคน ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูกๆ ของท่าน[vi]


[i] William Kemm, John Thomas Missionary to South India ( ISPCK, Delhi,2010)

[ii] Rev. Dyron B. Daughrity, A Brief History of Missions in Tirunelveli (part one): From the beginnings to its creation as a Diocese in 1896 (2004)

[iii] William Kemm, John Thomas Missionary to South India (ISPCK, Delhi, 2010)

[iv] http://archive.org/details/bitsaboutindia00holc

[v] http://archive.org/stream/churchinmadrasbe03penn/churchinmadrasbe03penn_djvu.txt and http://anglicanhistory.org/india/stock_beginnings/04.html

[vi] William Kemm, John Thomas Missionary to South India (ISPCK, Delhi, 2010)

โบสถ์เซนต์ปอลที่เมกะนันนะปุรัม ภาพเมื่อปี พ.ศ. 2447 โบสถ์นี้เริ่มสร้างโดย จอห์น โทมัส เมื่อ พ.ศ.2387 ใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ร่างของท่านถูกฝังไว้ที่มุมหนึ่งของโบสถ์แห่งนี้ (เอื้อเฟื้อภาพจาก Kutty Jaskar)

โบสถ์ เซนต์ปอลในปัจจุบัน (เอื้อเฟื้อภาพจาก Kutty Jaskar)

ภายในโบสถ์มีป้ายก่อปูนถาวรติดไว้ที่กำแพงโบสถ์เพื่อสดุดี จอห์น โทมัส ภรรยาของเขา จอห์น เดวีส์ บุตรชายคนโต และ แอชตัน ดิบบ์ บุตรเขย (ภาพล่าง) หลุมศพจอห์น โทมัส ที่มุมโบสถ์ (เอื้อเฟื้อภาพจาก Kutty Jaskar)

วิทยาลัยการศึกษาสำหรับสตรีบาทหลวงจอห์น โทมัส (Rev. John Thomas college of education for women) ที่ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ที่เมกะนันนะปุรัม