นายบุญเสี้ยน แซ่ลั้ว

พ.ศ.2393-2453

นายบุญเสี้ยน แซ่ลั้ว ผู้วางรากฐานให้รุ่นหลัง

นายบุญเสี้ยน แซ่ลั้ว(วัฒนานิกร)กิดเมื่อพ.ศ.2393 มีอาชีพเป็นพ่อค้า สามารถประกอบกิจการจนประสบความสำเร็จ และได้สร้างอาคารทรงจีนโบราณ ติดถนนปัตตานีภิรมย์ฟากตะวันออกก่อนถึงถนนอาเนาะรู โดยหันหน้าไปทางตะวันตก ปัจจุบันตกเป็นของทายาทนายมาโนช วัฒนานิกร หลานชายของนายบุญเสี้ยน

สาเหตุที่ นายบุญเสี้ยน ประสบความสำเร็จในกิจการค้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขามีเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งเป็นบุตรของหลวงสำเร็จกิจกรจางวางชื่อว่าจูล่าย แซ่ตัน ผู้เป็นพี่ชายนายจู้เซียน พี่เขยของเขาเอง

นายจูล่ายนี้มีตำแหน่งเป็น กัปตันจีน’ ที่มีหน้าที่ดูแลปกครองคนจีนในเมืองปัตตานี เป็นผู้ควบคุมธุรกิจการค้า และการขนส่ง ซึ่งรวมธุรกิจหลายอย่าง เป็นผู้บัญชาการขนส่ง เป็นผู้จัดการเก็บภาษีขาเข้า และขาออก จากต่างประเทศ และเป็นตุลาการมีอำนาจเต็มที่ ในการตัดสินความซึ่งเกิดขึ้นระหว่างชาวจีนด้วยกัน ซึ่งต่อมานายจูล่ายได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองปัตตานีเมื่อพ.ศ.2457ในสมัยรัชกาลที่หก ความสนิทสนมระหว่างตระกูลวัฒนานิกร และคณานุรักษ์นี้ยังคงมีต่อมาถึงรุ่นลูกของนายบุญเสี้ยน ที่เป็นคนสนิทคนหนึ่งของพระจีนคณานุรักษ์ [i]

ป้ายหน้าชื่อนายบุญเสี้ยน

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วสมัยที่นายบุญเสี้ยนยังมีชีวิต เมืองปัตตานีน่าจะเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ด้วยปรากฏหลักฐานการเสด็จเยือนของพระมหากษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายครั้ง ที่ตลาดจีนคงมีการทำมาค้าขายกันอย่างคึกคักทั้งนี้เพราะ ปัตตานีเป็นเมืองท่าจุดขนถ่ายสินค้า จากฝั่งอ่าวไทย ข้ามไปเมืองไทรบุรี(เกดาห์) ในฝั่งทะเลอันดามัน

แต่ต่อมาเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว ความสำคัญของปัตตานีในด้านเศรษฐกิจจึงลดลงอันเป็นผลจากการสร้างรถไฟสายใต้ โดยมีชุมทางที่หาดใหญ่ แล้วแยกไปฝั่งตะวันออกทางสุไหงโกลกเพื่อเข้าสู่กลันตันและตรังกานู ส่วนอีกสายแยกไปทางตะวันตกทางปาดังเบซาร์เพื่อเข้าสู้ปะลิศและไทรบุรี ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้ได้ตกไปเป็นของอังกฤษ ตามสนธิสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451(ตามปฏิทินสยาม) ซึ่งทำให้สยามเสียดินแดนเหล่านี้ไปทั้งหมด ด้วยเหตุนี้หาดใหญ่จึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ชีวิตส่วนตัวของ นายบุญเสี้ยน เขามีภรรยาสองคน ภรรยาคนแรกคือ นางเลื่อน(สกุลเดิม ณ สงขลา)ผู้เป็นน้องสาวของพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์(พ่วง ณ สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิกคนสุดท้าย โดยมีบุตรกับภรรยาคนนี้สองคนคือนางคลี่ และนายซุ่ยจ้าย ส่วนภรรยาคนที่สองชื่อ บุญอี๋ ซึ่งไม่มีข้อมูลว่าเขามีบุตรกับภรรยาคนนี้หรือไม่ นายบุญเสี้ยนเสียชีวิตในปีพ.ศ.2453เมื่ออายุ 60 ปี ก่อนการเสียชีวิตของนางเลื่อนภรรรยาคนแรกประมาณแปดปี โดย นางเลื่อน มีอายุ 64 ปีขณะเสียชีวิต

สำหรับป้ายหน้าชื่อมีข้อความสรุปได้ว่า: สมัยราฃวงศ์ชิง เพศชาย ชื่อผู้ตาย จีเหลี่ยง แซ่ไหล่ (ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน หรือแซ่ลั้ว ตามสำเนียงทั่วไป) ป้ายที่สถิตแห่งวิญญาณ ด้านข้างระบุชื่อลูกชาย ซุ่ยจ้าย แซ่ไหล่ (น่าสังเกตุว่าไม่มีชื่อลูกสาว) และหลานชาย เกี่ยนซิ่ว เกียนซ่าน เกี่ยนเต็ก (ชื่อผู้ตายจะไม่ตรงกับชื่อจริงตอนมีชีวิตเพราะเป็นธรรมเนียมจีนโบราณที่จะตั้งชื่อใหม่ให้ผู้ตาย) [ii]

[ii] เอื้อเฟื้อคำแปลจากคุณหมอปานเทพ คณานุรักษ์

นายบุญเสี้ยน แซ่ลั้ว

บ้านทรงจีนของนายบุญเสี้ยนที่ถนนปัตตานีภิรมย์ น่าจะสร้างช่วงปีพ.ศ.2425-2435 ในรูปแสดงคำมงคลหน้าประตูชั้นบน ‘ชื่อ อี้ เหริน สิง’ แปลว่า ‘การดำเนินงานที่กอบด้วยหลักคุณธรรมและเมตตาธรรม’

ครอบครัวนายบุญเสี้ยน รูปถ่ายช่วงปี พ.ศ. 2447-2452 ปลายรัชกาลที่ห้า แถวยืน: 1) เด็กไม่ทราบชื่อ 2) นายซุ่ยจ้าย(หลวงสกลการธานี) 3) นายบุญเสี้ยน 4) หลวงประสิทธิ์บุรีรมย์ 5) เด็กไม่ทราบชื่อ แถวนั่ง: 1) นางเซ่งห้วยภรรยานายซุ่ยจ้าย 2) นางบุญอี๋ ภรรยาคนที่สองของนายบุญเสี้ยน 3) นางคลี่ ภรรยาหลวงประสิทธิ์บุรีรมย์