ภาพบน: หัวรถจักรฮัดส์เวลล์ คลาร์ค เจ็ดตัน กำลังลากท่อนซุงมาจากป่าแม่จุนเพื่อไปลอยน้ำที่เมืองปง สมัยนั้นมักมีชาวบ้านแอบอาศัยมาบนท่อนซุงจนบางครั้งเกิดอุบัติเหตุถึงเสียชีวิต จนกลายเป็นเหยื่อของเสือกินคนดังที่ มร.สเปนเซอร์ เคยเล่าให้นายห้างป่าไม้รุ่นน้องฟัง (ภาพถ่ายราวปีพ.ศ.2460-2461 จากหนังสือ An Asian Arcady โดย Reginald Le May) ภาพล่าง: มร.ลอว์ หน้าโกดังของบริษัทสยามฟอเรสต์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม ภาพถ่ายราวปีพ.ศ.2457 (กิตติชัย วัฒนานิกร นายห้างป่าไม้ สีสันชีวิตอดีตล้านนา สันติภาพแพ็คพริ้นท์ 2558)

นายห้างป่าไม้ที่ป่าเมืองจุน


ขณะที่ นายเกียรติ ทำหน้าที่ 'ผู้ช่วยป่าไม้' ที่เมืองปง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอปง จังหวัดพะเยา) คนงานและคนล้านนาทั่วไปมักเรียกเขาว่า 'นายห้าง' ซึ่งย่อมาจากคำว่า 'นายห้างป่าไม้' ซึ่งหมายถึง 'นายของห้างป่าไม้'

ขณะนั้นบริษัทแองโกลสยามมี มร.อี ดี แอคินส์(E D Atkins) เป็นผู้จัดการทั่วไปที่กรุงเทพฯ และมี มร.เอช อี เอม มาร์ติน(H E M Martin) บิดา ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน เป็นผู้จัดการป่าไม้ที่ลำปาง โดยมีผู้ช่วยป่าไม้ชื่อ มร. อี จี สจ๊วด ฮาร์ทเล่ย์( E G Stuart Hartley) เป็นหัวหน้าที่เมืองปง ซึ่งมีป่าในความรับผิดชอบคือป่าลุ่มน้ำแม่จุน ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาภูนาง และป่าห้วยดอกเข็ม ป่าแม่ร่องขุย ทางฝากตะวันตก

แต่เนื่องจาก แม่น้ำลำห้วยในป่าเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำอิงทั้งหมด ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงผ่านประเทศลาวและกัมพูชา ไปสู่ปากแม่น้ำในประเทศเวียดนามอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีตัวแทนของบริษัทแองโกลสยามอยู่ในประเทศแถบนี้ ดังนั้นแม่น้ำลำห้วยในผืนป่าเหล่านี้จึงใช้ล่องซุงไม่ได้ มีหนทางเดียวคือต้องหาวิธีการนำท่อนซุงผ่านป่าของบริษัทบอมเบย์ฯ ที่คั่นอยู่เป็นระยะทางร่วมยี่สิบกิโลเมตร เพื่อไปปล่อยลงในแม่น้ำยม ให้ลอยไปยังสถานีทำแพที่สวรรคโลก ก่อนล่องแพต่อไปยังปากน้ำโพและกรุงเทพฯ

บริษัทแองโกลสยาม (ซึ่งแต่เดิมชื่อว่าบริษัทสยามฟอเรสต์) ได้แก้ปัญหานี้ก่อนหน้าที่นายเกียรติจะไปทำงานที่นั่นนานมาแล้ว โดยลงทุนนำรถไฟเล็กมาขนซุงจากป่าเหล่านี้ มาลงแม่น้ำยมที่เมืองปง โดยเป็นรถไฟขนซุงสายแรกในป่าล้านนา บริษัทฯเริ่มตัดเส้นทางตั้งแต่กลางปีพ.ศ.2456 โดยเริ่มจากริมแม่น้ำยม ผ่านป่าของบริษัทบอมเบย์ฯ ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

รถไฟเส้นนี้ ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้นกว่าสิบสองปี จนในที่สุดไปจบที่ด้านตะวันตกของดอยภูนางเลยบ้านปินลงไปเล็กน้อย รวมระยะทางทั้งสิ้น 78.8 กิโลเมตร ผู้ช่วยป่าไม้และวิศวกรที่กำกับดูแลการก่อสร้างช่วงแรกคือ มร.เอฟ ดี สเปนเซอร์(F D Spencer) และมร.อาร์ บี ลอว์ (R B Law) ดังนั้นเมื่อนายเกียรติไปทำงานที่เมืองปง รถไฟสายนี้จึงใช้ขนซุงมาร่วมยี่สิบปีเศษแล้ว[i]

สำหรับนายเกียรติได้ทำงานที่ป่าเหล่านี้โดยประจำอยู่ที่สถานีป่าไม้ของบริษัทฯ ที่เมืองปงเป็นเวลาราวสองปีพร้อมกับภรรยา นางมาลีและลูกสองคนแรก สถานีแห่งนี้อยู่ริมแม่น้ำยมใกล้กับบริเวณที่ปัจจุบันคือ หน่วยป้องกันรักษาป่านาปรัง

เขาทำงานที่เมืองปงได้ประมาณสองปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 จึงถูกย้ายไปประจำที่สถานีป่าไม้อำเภองาว เพื่อทำหน้าที่ดูแลการทำไม้ในป่าลุ่มน้ำงาว ซึ่งเป็นป่าสัมปทานอีกแห่งหนึ่งของบริษัทแองโกลสยาม จากนั้นอีกสองปีต่อมา ได้ย้ายไปที่สำนักงานภาคเหนือในตัวจังหวัดลำปาง แต่ไม่นานต่อมาสำนักงานของบริษัทแองโกลสยาม (ซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลไทย) ได้ย้ายจากจังหวัดลำปางไปตั้งที่อำเภองาวในปีพ.ศ.2483 นายเกียรติจึงกลับไปประจำที่งาวอีกครั้ง

[i] กิตติชัย วัฒนานิกร นายห้างไม้ยุคสุดท้ายในล้านนา (สันติภาพแพ็คพริ้นท์ 2563)

ส้นทางรถไฟของบริษัทสยามฟอเรสต์จากเมืองปงถึงบ้านปิน โดยเริ่มจากริมแม่น้ำยมตามแนวทางหลวงหมายเลข 1188 ในปัจจุบันวิ่งตรงไปบ้านห้วยคอกหมู ก่อนข้ามดอยไปยังฝั่งลุ่มน้ำจุน ป่าสัมปทานของบริษัทแองโกลสยามในสมัยนั้น

ภาพบน: บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมตามทางหลวงหมายเลข 1188 ขวามือของรูปคือหน่วยป้องกันรักษาป่านาปรังที่อดีตเคยเป็นสำนักงานของกรมป่าไม้สยาม ซึ่งคอยกำกับดูแลการทำไม้ของบริษัทฝรั่งรวมถึงบริษัทสยามฟอเรสต์ (หรือแองโกลสยาม)ที่ในอดีตตั้งสำนักงานอยู่ใกลๆกัน ภาพล่าง: อดีตอาคารสำนักงานบริษัทแองโกลสยามที่ลำปาง