พ่อ แม่ และลูกสามคนแรก (จากขวา) ประภาศรี ไกรวัลย์ เฉลิมศรี ที่อำเภองาว พ.ศ.2480
ประภาศรี เมื่อวัยสาว หน้าบ้านอำเภองาว
ชีวิตครอบครัวในสถานีป่าไม้งาว
บ้านพักของครอบครัว นายเกียรติ ที่อำเภองาว เป็นบ้านประจำตำแหน่งนายห้างป่าไม้บริษัทแองโกลไทย สร้างอยู่ภายในพื้นที่บริษัทฯ (แต่ภายหลัง เมื่อบริษัทแองโกลไทยเลิกกิจการป่าไม้ ได้ยกบ้านหลังนี้ พร้อมที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายเกียรติ) ด้านหน้าติดถนนพหลโยธิน ด้านหลังเป็นบ้านพักของนายห้างป่าไม้อีกคนในขณะนั้นชื่อ มร. สแตนเล่ย์ คินเดอร์ (Stanley Kinder) จากบ้าน มร. คินเดอร์ เมื่อเดินไปทางขวามือ ผ่านสนามหญ้าและกลุ่มแมกไม้ที่ร่มรื่น จะข้ามสะพานไม้คล่อมลำห้วยซึ่งไหลไปลงแม่น้ำงาว จากนั้นจะไปผ่านสำนักงานของบริษัทฯ ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวอยู่ขวามือ โดยมีสนามหญ้ากว้าง และมีต้นไม้ใหญ่น้อยรวมถึงแปลงดอกไม้สวยงาม อยู่ด้านซ้ายมือ ก่อนที่จะจบลงที่บ้าน มร. อี จี สจ๊วด ฮาร์ทเล่ย์ ( E G Stuart Hartley) ผู้จัดการป่าไม้ของบริษัทฯ
บ้านพักนายเกียรติ เป็นบ้านไม้สักใต้ถุนสูง หน้าบ้านมีแปลงดอกไม้และพิกุลต้นใหญ่ พอขึ้นบันใดหน้าบ้านจะมีระเบียงขนาดย่อม ก่อนเข้าสู่ตัวเรือนที่ยกพื้นสูงขึ้น โดยขวามือของตัวเรือนเป็นห้องรับแขกและพักผ่อนของครอบครัว แต่หากตรงไปจะเข้าสู่ห้องโถงกลาง ตรงบริเวณขอบโถงกลางริมระเบียง มีเก้าอี้ผ้าใบที่นายเกียรติ มักใช้นอนพักผ่อนหลังเลิกงานตั้งอยู่ ซึ่งก็เห็นไม่บ่อยนักเพราะอาชีพนายห้างป่าไม้ จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในป่า ยกเว้นช่วงฤดูร้อนไม่กี่เดือนที่จะกลับมาประจำที่สถานีป่าไม้งาว
ในบริเวณโถงกลาง เป็นห้องสารพัดประโยชน์ รวมถึงใช้เป็นห้องอาหาร บนตู้ใบหนึ่งในโถงกลางมีวิทยุถ่านเครื่องใหญ่สีทึมๆ ตั้งอยู่ วิทยุเครื่องนี้คือแหล่งข้อมูลข่าวสาร จากภายนอก ทั้งข่าวจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และข่าวจากต่างประเทศผ่านสถานีวิทยุบีบีซีกรุงลอนดอน นอกจากนั้นที่ข้างฝายังมียังมีจักรเย็บผ้า เครื่องเล่นแผ่นเสียงชนิดไขลานเสียงเล็กแหบๆ ตั้งอยู่ โดยมีตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้บนเพดาน เพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน สองฝากห้องโถงกลางเป็นห้องนอนของสมาชิกในบ้าน
ตรงออกไปจากโถงกลาง มีประตูเปิดทะลุสู่นอกชานกว้างที่ลดระดับลง ด้านซ้ายของนอกชานเป็นห้องน้ำ โดยติดกันเป็นห้องเก็บของ ถัดไปเป็นห้องคนงานรับใช้ ตรงปลายสุดของนอกชานเป็นห้องครัว โดยมีบันใดลงไปสู่ใต้ถุนเรือนอยู่ขวามือก่อนถึงห้องครัว
นอกชานนี้มีความพิเศษ เพราะว่าเมื่อไหร่เด็กๆ ได้ยินเสียง ‘ฮอกจ้าง’ โคลก คลั๊ก..โคลก คลั๊ก พร้อมเสียงหักกิ่งไม้โครมครามหลังบ้าน เป็นอันต้องรีบวิ่งไปดู เพราะแสดงว่าขณะนั้น กำลังมีช้างเข้ามาเทียบที่ชานหลังบ้าน เพื่อขนสัมภาระจำเป็นสำหรับยังชีพในป่าของนายห้างฯเจ้าของบ้าน ในส่วนของเด็กๆแล้วการได้ดูช้างที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมเมื่อมองลงไปจากชานบ้าน เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเสมอ
ขณะอยู่อำเภองาว เนื่องจากเป็นถิ่นห่างไกลความเจริญอาหารการกินไม่สมบูรณ์ นายเกียรติจึงให้คนงานเลี้ยงแพะไว้หนึ่งฝูง สำหรับรีดนมโดยทำโรงเลี้ยงไว้หลังบ้าน และยังเลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อเก็บไข่ ปลูกผักสวนครัวและผักสลัดชนิดต่างๆ ที่ริมฝั่งแม่น้ำงาวในพื้นที่ของบริษัทฯ นอกจากนั้นยังได้เลี้ยงสัตว์หายาก เช่น ไก่งวง นกยูง แม้กระทั่งอีเก้งไว้ในบริเวณบ้าน และเพื่อเป็นทรัพย์สินยามฉุกเฉิน ยังจ้างคนเลี้ยงวัวไว้อีกฝูง โดยมีคอกวัวอยู่ที่มุมหนึ่งในพื้นที่ของบริษัทฯ
นายเกียรติกับนางมาลีกับลูก (จากขวา)ไกรวัลย์ เฉลิมศรี ประภาศรี ฉวีวรรณ และบุญฤทธิ์ ที่อำเภองาว พ.ศ.2484
นางมาลีกับลูก (จากซ้าย)บุญฤทธิ์ กิตติชัย และพรรณพิมล ที่หน้าบ้านลำปางขณะมาจากงาว ราวปี พ.ศ.2494
กิตติชัย กับ แคลร์ (Clare) ลูกสาวมิสเตอร์ ฮาร์ทเล่ย์ บริเวณสนามหญ้าข้างอาคารสำนักงานของบริษัทแองโกลไทยที่อำเภองาว
ในช่วงพำนักอยู่อำเภองาวลูกๆของ นายเกียรติ และ นางมาลี อยู่ในวัยที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่คนโตสุดซึ่งเกิดที่ปากน้ำโพเมื่อ พ.ศ. 2475 จนถึงคนเล็กสุดที่เกิดห่างกันสิบหกปีเมื่อ พ.ศ.2491 ไล่เรียงกันตั้งแต่ ประภาศรี ไกรวัลย์ เฉลิมศรี ฉวีวรรณ บุญฤทธิ์ พรรณพิมล ที่เกิดก่อนสงความมหาเอเชียบูรพา หรือในระหว่างสงครามฯ จนถึงคนสุดท้อง กิตติชัย ที่เกิดหลังสงคราม
ในช่วงสงครามฯ ครอบครัวนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านแหง หมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากอำเภองาวออกไปประมาณสิบกิโลเมตร ทั้งนี้เพราะบริษัทแองโกลไทยถูกเข้ายึดโดยรัฐบาลสยาม และตัว นายเกียรติ ต้องย้ายไปทำงานให้กับบริษัทไม้ไทยของรัฐบาล แต่ภายหลังสงครามรัฐบาลไทยต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้บริษัทแองโกลไทย นายเกียรติ จึงกลับมาทำงานกับบริษัทฯ อีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการดูแลการทำไม้ของบริษัทฯ
บรรดาลูกๆ ของครอบครัวนี้สมัยเด็ก ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างใหญ่ ร่มรื่น และเป็นธรรมชาติ ซึ่งส่งเสริมเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ ตลอดจนการผจญภัยเล็กๆ ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี จึงมีเรื่องราวสนุกสนานน่าตื่นเต้นให้ทำมากมาย ตั้งแต่วิ่งซนกันในบริเวณบริษัทฯ ที่กว้างขวางเขียวขจี ลงเล่นในลำห้วยและในแม่น้ำงาว ขี่จักรยานไปในตัวอำเภอที่เงียบสงบ ฯลฯ การเล่นซนนี้แต่ละคนก็มีวีรกรรมแตกต่างกันไป จนทำให้ผู้ใหญ่อกสั่นขวัญแขวน บางคนเกือบเอาชีวิตไม่รอด จากการจมน้ำในแม่น้ำงาว บางคนก็มีแผลเป็นจากเขี้ยวสุนัขบ้านฝรั่งมาจนปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อลูกๆ โตขึ้นจนสมควรเรียนหนังสืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงทยอยถูกส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนวิชชานารี ในตัวเมืองลำปางทุกคน ยกเว้น บุญฤทธิ์ โดย นายเกียรติได้ปลูกบ้านไว้หลังหนึ่งให้ลูกๆอยู่กับแม่ยาย คือ แม่เลี้ยงหนู ในตัวจังหวัดลำปาง สำหรับ บุญฤทธิ์ ถูกส่งไปเป็นนักเรียนประจำ ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์เชียงใหม่ ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่สาม และต่อมาพี่สาวอีกสองคน คือ ไกรวัลย์ และ เฉลิมศรี ก็ตามไปเป็นนักเรียนประจำ ของโรงเรียนดาราวิทยาลัยขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่สาม
การเดินทางจากอำเภองาวไปลำปางในสมัยนั้น ไม่มีรถโดยสารที่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ ดังนั้นหากไม่ใช่จังหวะที่รถของบริษัทแองโกลไทยต้องเข้าตัวเมืองลำปาง ก็ต้องนั่งไปกับรถบรรทุกกระสอบข้าวสมัยก่อน ที่ตัวถังและหลังคาทำด้วยไม้ วิ่งไปบนถนนที่ทั้งแคบและคดเคี้ยว มีหุบเหวอยู่ข้างทางเป็นระยะๆ
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือสภาพแวดล้อมของครอบครัว นายเกียรติ และ นางมาลี ในช่วงเวลาเกือบยี่สิบปี ที่อำเภองาว เมื่อเจ็ดถึงแปดสิบปีล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาตนเอง ภายใต้สภาพแวดล้อมเงียบสงบ มีความสุขอยู่กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ นานๆ ครั้งจึงได้ยินดังเสียงกระหึ่ม ของรถยนต์บรรทุกขนข้าวสาร หรือที่สมัยนั้นเรียก 'รถคอกหมู' เร่งเครื่องขึ้นเนินตามถนนพหลโยธินผ่านหน้าบ้าน
ประภาศรีพี่สาวคนโต กับกิตติชัยน้องคนสุดท้องที่อำเภองาว
กิตติชัย ขณะเล่นกับไก่ที่ชานหลังบ้านอำเภองาว ราวปี พ.ศ.2495
รถบรรทุกวิ่งตามถนนจากงาวไปลำปางบนถนนแคบๆ ในสมัยนั้น