นายเกียรติกับเพื่อนร่วมงานชุดสุดท้ายที่สถานีป่าไม้งาวในปีพ.ศ.2500 มีทั้งนายห้างป่าไม้ พนักงานออฟฟิศ เสมียนลำน้ำ คนขับรถ คนดูแลช้าง เป็นภาพสุดท้ายก่อนบริษัทแองโกลไทยเลิกกิจการป่าไม้ในไทย

นายเกียรติถ่ายภาพร่วมกับพนักงานบริษัทแองโกลไทย ในงานเลี้ยงรับรองเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทฯที่โรงแรมศรีประกาศขณะเป็นผู้จัดการสาขาภาคเหนือที่เชียงใหม่

จากนายห้างป่าไม้สู่พ่อค้า


ในปีพ.ศ. 2501 หลังจากเลิกกิจการป่าไม้ บริษัทแองโกลไทยได้เปลี่ยนไปทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้า ซึ่งนายเกียรติได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสาขาภาคเหนือ มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดลำปางในปีแรก ก่อนย้ายไปจังหวัดเชียงใหม่มีสำนักงานอยู่ที่ บ้านเช่าหมอมนู บนถนนอารักษ์ 5 สำหรับงานในตำแหน่งนี้ เป็นงานที่นายเกียรติไม่คาดคิดมาก่อน และไม่มีความถนัด เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดต่อค้าขาย ซึ่งแตกต่างจากงานที่เคยทำอย่างสิ้นเชิง คือเปลี่ยนจาก ‘ความสงบในป่า สู่ความวุ่นวายในเมือง’ จึงทำความลำบากใจให้มากในระยะแรก แต่ต่อมาก็สามารถปรับตัวได้ และภายหลัง น.ส.ฉวีวรรณ ลูกสาว ซึ่งจบด้านบัญชีก็ได้ไปช่วยงานที่เชียงใหม่อีกแรง

ขณะทำงานในตำแหน่งนี้ เขาก็ตะลอนไปทุกจังหวัด ทุกอำเภอในภาคเหนือเพื่อติดต่อลูกค้า ทั้งโดยทางรถไฟ หรือรถยนต์แลนด์โรเวอร์ของบริษัทฯ ซึ่งถนนหลายเส้นในสมัยนั้นยังคงเป็นดินลูกรังฝุ่นตลบอบอวน ทั้งนี้ก็เพื่อเขาจะได้ดูให้เห็นสภาพจริงของกิจการ ไม่คอยฟังแต่รายงานของบรรดาพนักงานขายของบริษัทฯ ผู้เขียนจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่บิดาให้ติดตามไปด้วยเมื่อไปเยี่ยมลูกค้า ขณะนั่งมาในรถไฟมีหนุ่มๆสองสามคน กำลังพูดคุยกันอย่างออกรสในที่นั่งที่อยู่ถัดไป ข้อความในการสนทนานั้น ได้พาดพิงไปถึงพนักงานขายคนหนึ่งของบริษัทฯ ทำให้นายเกียรติรู้ความลับที่เจ้าตัวคงไม่อยากเปิดเผย นี่จึงเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการออกตะลอนไปทั่วของเขา

นายเกียรติ ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวต่อมาอีกแปดปี จนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปีในปี พ.ศ.2508 หนังสือขอบคุณจากผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ที่มีมาถึงนายเกียรติขณะเกษียณอายุ มีความตอนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของนายเกียรติเป็นอย่างดีว่า:

“During the years he became a key employee, highly respected for his honesty and integrity”

เมื่อระยะเวลาผ่านไป เขาได้กลายเป็นพนักงานคนสำคัญ ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงในเรื่องความซื่อสัตย์ และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม