ขนซุงโดยรถไฟเล็กที่ป่าแม่ลี้


สำหรับการทำไม้ในบริเวณลุ่มน้ำแม่ลี้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ไม้สักต้นแห้งที่ถูกตัดจากป่าแม่ลี้จะล่องมาตามลำน้ำลี้เพื่อลอยลงสู่แม่น้ำปิงที่สบลี้ ก่อนที่จะลอยต่อไปยังเมืองระแหง(หรือตาก) เพื่อนำมารวมเป็นแพล่องสู่ปากน้ำโพและเข้าสู่โรงเลื่อยที่กรุงเทพฯในที่สุด แต่ในช่วงนั้นวิธีการเช่นว่านี้ ที่ทำต่อเนื่องมานับยี่สิบปีเกิดมีปัญหา คือมีท่อนซุงตกค้างตามหาดทรายของลำน้ำลี้ โดยไม่สามารถลอยออกไปสู่แม่น้ำปิงได้เป็นจำนวนมาก บางท่อนตกค้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือกว่าสิบปีจนเริ่มผุพัง

จากการเช็คสต๊อกท่อนซุงตามแม่น้ำลี้ในปี พ.ศ.2468 พบว่ามีท่อนซุงนอนนิ่งค้างเติ่งตามเนินทรายของแม่น้ำลี้ และลำน้ำสาขาจำนวนถึง 54,564 ท่อน สาเหตุสำคัญที่ท่อนซุงติดค้างจำนวนมากเนื่องมาจากระยะห่างจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำลี้ บริเวณตั้งแต่บ้านทุ่งม่านไปถึงวัดท่าช้าง ยาวประมาณ 26 กิโลเมตรขยายกว้างขึ้นเฉลี่ยเป็น 320 เมตรในช่วงปีหลังๆ เป็นผลให้พื้นที่ป่าเขาที่รับน้ำฝนของแม่น้ำลี้ ไม่กว้างใหญ่เพียงพอจะป้อนปริมาณน้ำฝนลงในแม่น้ำลี้ในช่วงนี้ ให้มีความลึกมากพอที่จะลอยซุงท่อนมหึมา เส้นผ่าศูนย์กลางกว่าหนึ่งเมตรเหล่านี้ไปได้

บริษัทบอมเบย์ฯ สมัยที่ มร.คิวริเปอล์ (Queripel) ยังเป็นผู้จัดการที่เชียงใหม่ ได้พยายามแก้ปัญหาโดยใช้เกวียนเทียมควายขนถ่ายท่อนซุงจากฝั่งแม่น้ำลี้ในบริเวณนี้ ข้ามมายังฝั่งแม่น้ำปิงในปี พ.ศ.2468 แต่ขนถ่ายได้ไม่ถึงเก้าร้อยท่อนเพราะระยะไกล หากจะใช้วิธีซ่อมแซมปรับปรุงร่องน้ำที่ยาวถึง 26 กิโลเมตรก็ต้องใช้แรงงานและช้างจำนวนมาก อาจใช้เวลาอย่างต่ำสี่ห้าปีกว่าจะส่งท่อนซุงที่ติดค้างออกไปได้หมด ดังนั้นความรับผิดชอบแก้ไขเรื่องนี้ทั้งหมดขณะนั้นต้องตกไปอยู่ในมือของนายห้างป่าไม้วัยกลางคนที่ชื่อ เคนเนธ เกรเอม เกิร์ดเนอร์ (Kenneth Graeme Gairdner)[i] ที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบวางรางรถไฟเพื่อขนซุงไม้สักจากฝั่งน้ำแม่ลี้ข้ามมาส่งลอยแม่น้ำปิง

ดังนั้นเมื่อเริ่มเข้าหน้าหนาว ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2469 ทีมนักสำรวจเส้นทางนำโดย เกิร์ดเนอร์ จึงเข้ามาสำรวจทำแผนที่รายละเอียด หลังจากที่ เกิร์ดเนอร์ ทำการสำรวจเสร็จสิ้นเส้นทางรถไฟสายหลักจึงถูกกำหนดให้วิ่งจากต้นทาง บริเวณแยกหอนาฬิกาอำเภอบ้านโฮ่งในปัจจุบัน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านหลังดอยหลังถ้ำ อ้อมไปลงแม่น้ำปิงที่บ้านท่าหลุกใต้บ้านวังปานดังปรากฏในภาพ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายนี้คือ ทางหลวงหมายเลข 3004 และ 6034

หลังจากได้เส้นทางเดินรถไฟแล้ว เขาก็ทำการวางรางตั้งแต่เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2471 จนติดตั้งสวิทช์ต่างๆ แล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยรวมเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร ทั้งรางรถไฟสายหลักยาว 24 กิโลเมตรและสายคู่ขนานบางช่วง ตลอดจนรางรถไฟชั่วคราวที่เชื่อมต่อกับรางสายหลัก เพื่อนำเข้าสู่บริเวณที่รวมหมอนของท่อนซุง ตามเนินทรายของแม่น้ำลี้ และตามทุ่งนา

[i] นายเกิร์ดเนอร์ผู้นี้ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาเขาถูกจับไปเข้าค่ายกักกันเช่นเดียวกับชาวอังกฤษคนอื่นๆ แต่ขณะอยู่ในค่ายกักกัน เขาได้ริเริ่มจัดตั้งองค์กรลับที่ชื่อว่า'องค์กรวี' เพื่อคอยช่วยเหลือเชลยสงครามชาวยุโรปตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งภายหลังมีคนไทยที่ชื่อ บุญผ่อง ศิริเวชชะพันธ์ เข้าไปร่วมด้วย จนเมื่อไม่นานมานี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำเอาเรื่องราวการช่วยเหลือเชลยสงครามมาทำเป็นละครเรื่อง'บุญผ่อง' ออกอากาศเมื่อปีพ.ศ.2556

ท่อนซุงมหึมาที่ติดค้างตามลำน้ำลี้จำนวนมากช่วงปี พ.ศ.2460-2471 (เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

หัวรถจักร Hudswell Clarke ลากรถบรรทุกซุงไม่น้อยกว่าสิบท่อนตามเส้นทางสายหลักช่วงปี พ.ศ.2471-2472 (เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

แผนที่คร่าวๆที่ มร.เกิร์ดเนอร์ วาดไว้ก่อนวางรางรถไฟในปีพ.ศ.2471 แสดงบริเวณแม่น้ำลี้ที่มีปัญหาตามที่ระบายทึบและแนวเส้นทางรถไฟที่จำเป็นต้องจัดสร้าง (เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

การขนซุงโดยรถไฟที่ นายเกียรติ ไปทำงานด้วยนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2471 ไปเสร็จสิ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2472 เฉลี่ยขนซุงได้วันละ 166.59 ตันหรือกว่าเก้าสิบท่อนซุงต่อวัน โดยใช้หัวรถจักร ฮัดส์เวลล์ คลาร์ค (Hudswell Clarke) สามหัว สามารถขนท่อนซุงไปลงแม่น้ำปิงได้ทั้งหมด 33,425 ท่อน รวมกับท่อนซุงที่สามารถส่งลอยออกไปตามแม่น้ำลี้ เพื่อลงแม่น้ำปิงในช่วงฤดูน้ำหลากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470-2472 อีกจำนวน 14,156 ท่อน ทำให้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2472 สามารถขนถ่ายท่อนซุงที่ติดค้างตามลำน้ำแม่ลี้ออกไปได้ทั้งสิ้น 47,581 ท่อน คงเหลือท่อนซุงในลำน้ำลี้อีกเพียงเล็กน้อย ที่กระแสน้ำลี้จะสามารถพาออกไปได้ในช่วงฤดูน้ำหลากปีต่อๆไป[ii]

นายเกียรติทำงานกำกับดูแลการขนซุงโดยรถไฟเล็กโดยประจำที่บ้านท่าหลุก อำเภอจอมทอง จนกระทั่งการขนซุงเสร็จสิ้นในกลางปี พ.ศ.2472 จึงกลับไปปัตตานี แต่ไม่นานหลังจากนั้น มร. เกิร์ดเนอร์ได้มีจดหมายติดต่อชวนให้เขาขึ้นไปช่วยงานฟาร์มส่วนตัวที่วังพระธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีเนื้อที่นากว่า 3000 ไร่

ด้วยความที่ นายเกียรติ เป็นคนรักการผจญภัย และเคยสัมผัสกับป่าไม้เมืองเหนือมาบ้างแล้ว เขาจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง เพื่อทำงานให้กับมร.เกิร์ดเนอร์ ขณะทำงานที่วังพระธาตุ มีอยู่วันหนึ่งได้เดินทางลงไปที่ปากน้ำโพ พอดีกับ นางสาวมาลี ดิบบ์ พร้อม แม่เลี้ยงหนู มารดาได้ไปเยี่ยมพี่สาวคือ นางดอกเอื้อง(ดิบบ์) วรธรรม ที่ขณะนั้นมีครอบครัวอยู่ที่ปากน้ำโพ จากการพบกันของทั้งสองคนในครั้งนั้น จึงนำไปสู่การแต่งงานในปีพ.ศ.2474

เนื่องจากวังพระธาตุ ของจังหวัดกำแพงเพชรในสมัยก่อนทุรกันดารมาก โรคภัยชุกชุม และเปลี่ยวน่ากลัว ใต้ถุนบ้านพักต้องทำบังเกอร์กระสอบทรายไว้ เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุโจรปล้น ด้วยเหตุนี้ภรรยาของนายเกียรติจึงได้ขอร้องให้เปลี่ยนที่ทำงาน จนในปี พ.ศ.2477 นายเกียรติ จึงได้สมัครเข้าทำงานใหม่กับ บริษัทแองโกลสยาม คอร์ปอเรชั่น (Anglo-Siam Corporation) ที่ขณะนั้นได้สัมปทานที่ป่าแม่จุน ในตำแหน่ง‘ผู้ช่วยป่าไม้ (Forest Assistant)' โดยไปประจำที่เมืองปง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อำเภอปง จังหวัดพะเยา) ขณะนั้นเมืองปงเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฯ และเป็นจุดที่ 'รถไฟ' ขนซุงของบริษัท จะนำท่อนซุงจากป่าสัมปทานมาปล่อยลงแม่น้ำยม

[ii] กิตติชัย วัฒนานิกร นายห้างไม้ยุคสุดท้ายในล้านนา (สันติภาพแพ็คพริ้นท์ 2563)

รถไฟขนซุงผ่านช่องเขาหลัง’ดอยหลังถ้ำ’ที่กิ่วคอควาย ซึ่งยังมีร่องรอยอยู่ในปัจจุบัน (เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

รถไฟปล่อยซุงลงแม่น้ำปิงที่บ้านท่าหลุก หมู่บ้านที่นายเกียรติมีบ้านพักอยู่ที่นี่ในขณะนั้น (เอื้อเฟื้อรูปจาก Oliver Backhouse)

แผนที่ฟาร์มที่วังพระธาตุ กำแพงเพชร ที่นายเกียรติเป็นคนดูแลให้ มร.เกิร์ดเนอร์ อยู่ระยะหนึ่ง (รูปจากเอกสาร Claim for Restoration and Compensation ที่นายเกิร์ดเนอร์ยื่นต่อรัฐบาลไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา แผนที่นี้ตัวนายเกิร์ดเนอร์เป็นผู้เขียนเอง)