นายมาโนช วัฒนานิกร (พ.ศ.2448-2539)
ประวัติย่อนายมาโนช วัฒนานิกร
นายมาโนช(เกี่ยนซิ่ว) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2448 ที่ตำบลอาเนะรู สมัยเด็กเข้าเรียนโรงเรียน วัดตานีสโมสร(ชื่อปัจจุบัน) ก่อนไปศึกษาต่อที่สถาบันเซนต์์เซเวียเมืองปีนัง และต่อที่สิงคโปร์ เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาได้ประกอบอาชีพค้าขาย โดยริเริ่มกิจการหลายอย่าง อาทิ โรงน้ำแข็ง เดินรถโดยสาร ฯลฯ ต่อมาได้แต่งงานกับ นส.โสภิต แซ่เล่า เหลนของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ต้นตระกูลคณานุรักษ์ มีบุตรทั้งหมด 6 คน คือ พญ.นวรัตน์ เสรีกุล นางอาภรณ์ วัฒนานิกร นางอรุณวรรณ พันธุ์พฤกษ์ นางพรรณเพ็ญ อัตศาสตร์ นางจินตนา ชูเมือง และนางนุช ตันอติชาติ
นายมาโนชเป็นผู้มีวินัยในตัวเองสูงมาก เป็นคนสุขุมเยือกเย็นโอบอ้อมอารี มีสัจจวาจา ชอบเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะนกเขา และยังเป็นนักกีฬาตัวยงทั้งฟุตบอลและเทนนิส ฝีมือลูกแบคแฮนด์ของเขานั้นหาตัวจับยาก ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้ จึงทำให้กลายมาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่เคารพนับถือของคนทั่วไปในปัตตานี นายมาโนชมีอายุยืนยาวมาถึงเก้าสิบสองปี เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดยที่นางโสภิต ผู้เป็นภรรยาได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว
นางโสภิต(ขวาสุด)กับนางมาลีภรรยานายเกียรติและครอบครัว คงเป็นภาพถ่ายก่อน พ.ศ. 2500
ภายหลังเสียชีวิตบุตรหลานได้เขียนรำลึกถึงพ่อและตา (ที่บรรดาหลานๆเรียกว่าป๋าป๊า) ไว้ว่า:[i]
“พ่อเคยบอกพวกลูกว่า พ่อไม่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า เพื่อจะได้สะสมเงินไว้ให้ลูก เพื่อลูกจะได้เรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัยทุกคน.......พ่อเป็นต้นแบบของความซื่อสัตย์ ความขยัน ความโอบอ้อมอารี ความเข้มแข็งอดทนและต่อสู้ชีวิตของลูกๆ”
“ป๋าป๊าเป็นคนใจดีมีเมตตากรุณาต่อทุกๆคน มีความคิดทันสมัย โดยริเริ่มเดินรถสายแรก ก่อตั้งโรงน้ำแข็งเป็นโรงแรก รวมทั้งสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เป็นแห่งแรกของจังหวัดปัตตานี”
[i] อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายมาโนช วัฒนานิกร ณ เมรุวัดนิกรชนาราม(วัดหัวตลาด) อ.เมือง จ.ปัตตานี วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2539
นายมานิช และ นางซิวฮั่ววัฒนานิกร
ประวัติย่อนายมานิช วัฒนานิกร
นายมานิช(เกี่ยนหงวน) เกิดเมื่อพ.ศ.2455ที่ตำบลอาเนะรูปัตตานี สมัยเด็กเข้าเรียนโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ก่อนถูกส่งไปเรียนปีนังเช่นเดียวกับพี่ๆ ด้วยที่นายมานิชเป็นคนสนใจเรื่องเครื่องจักร เครื่องยนต์ จึงเลือกเรียนในด้านนี้โดยมีอาจารย์ชื่ออเล็กซานเดอร์ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งเครื่องจักรใหญ่เป็นครู ต่อมาจึงได้มาติดตั้งเครื่องจักรโรงน้ำแข็งปัตตานีของนายมาโนชพี่ชาย นายมานิชทำงานที่โรงน้ำแข็งปัตตานีอยู่หลายปี จนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ตัวเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อสู้ทหารญี่ปุ่น จนได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากทางราชการ
ในด้านชีวิตครอบครัว นายมานิชแต่งงานกับ นส.ซิวฮั่ว แซ่เลี่ยง พื้นเพเป็นชาวอินโดนีเซีย แต่ภายหลังย้ายเข้ามาอยู่ที่ตำบลกะลาพอจนมาเจอกับนายมานิชที่ปัตตานี หลังแต่งงานทั้งคู่อาศัยอยู่กับนางเซ่งห้วยมารดาที่ปัตตานี จนกระทั่งหลังสงครามจึงได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่จังหวัดยะลา โดยเริ่มกิจการโรงน้ำแข็งและอยู่ซ่อมรถของตนเอง นายมานิช มีบุตรทั้งหมด 7 คนคือ นางมาลี รัตนสุวรรณ นายกุณฑล นางเฉลิมศรี เง่ายุธากร นางวลีพรรณ วัฒนานิกร ร.ต.อ บันลือชัย นางสิริรัตน์ มุ่งสันติ และนางศรีวิมล วัฒนานิกร
โดยนิสัยส่วนตัว นายมานิชเป็นคนพูดน้อยมาก เอาจริงเอาจัง จึงดูเป็นคนดุดันเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป แต่จริงๆแล้วเขาเป็นคนมีน้ำใจคนหนึ่ง เขายังเป็นคนมัธยัสพออยู่พอกินไม่ฟุ้งเฟ้อ นายมานิชมีอายุยืนยาวมาได้แปดสิบสองปีก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 ที่กรุงเทพฯ โดยย้ายมาอยู่กับลูกๆที่กรุงเทพตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ขณะที่ี่นางซิวฮั่วภรรยาได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2533
นายอนันต์ วัฒนานิกร ในชุดปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ประวัติย่อนายอนันต์ วัฒนานิกร
นายอนันต์(เกี้ยนหุ้ย) เป็นน้องต่างมารดากับพี่ๆ เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2458 ที่ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เนื่องจากเมื่อ นายอนันต์ มีอายุเข้าโรงเรียนบิดาได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาจึงไม่ถูกส่งไปเรียนที่ปีนังเหมือนกรณีของพี่ๆ นายอนันต์ สำเร็จการศึกษาวิชาการศึกษา ประโยคครูพิเศษประถม(พ.ป.)ต่อมาสมรสกับนางอุบล มุสิกะ เขาเริ่มรับราชการในตำแหน่งครูประชาบาลเมื่อพ.ศ.2477 ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยมีตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปีพ.ศ. 2518 เป็นศึกษาธิการอำเภอยะรัง จ. นายอนันต์มีบุตรห้าคนได้แก่ นางยินดี สุวรรณ น.ส.สุดา นางอุษา เจียดำรงชัย นายอาทิจ และนายธนรรฆ
นายอนันต์ มีอายุยืนยาวมาถึง 87 ปี เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2545 หลังการเสียชีวิตของนางอุบลภรรยา ถึงยี่สิบแปดปี นายอนันต์ได้ส่งมอบมรดกที่เป็นผลงานการศึกษาค้นคว้าที่มีคุณค่าของเขาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เป็นจำนวนมากมายหลายชิ้น
คุณอาอนันต์ และมารดาผู้เขียน มาลี พี่สาวผู้เขียน พรรณพิมล และ ผู้เขียนสมัยยังเด็ก ราวปี พ.ศ. 2500
หอนาฬิกาที่เบตงราวปี พ.ศ. 2500
อนันต์กับหลานๆ อาทิ พรรณพิมล กิตติชัย พรรณเพ็ญ ฉวีวรรณ บุญฤทธิ์ ขณะไปเที่ยวเบตง