หลวงสกลการธานี
(พ.ศ.2423-2461)
นายซุ่ยจ้าย(หลวงสกลการธานี)
นายซุ่ยจ้าย แซ่ลั้ว(วัฒนานิกร) บุตรนายบุญเสี้ยน ถือกำเนิดในตระกูลพ่อค้าผู้มั่งคั่งเมื่อพ.ศ.2423 สมัยต้นรัชกาลที่ห้า ในช่วงวัยรุ่น นายซุ่ยจ้าย คงใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง แบบลูกผู้มีอันจะกินทั้งหลาย จนไปมีลูกกับหญิงคนหนึ่งชื่อทับทิม แต่ก็ไม่ได้แต่งงานกันเป็นเรื่องเป็นราว ลูกชายคนนี้ของนายซุ่ยจ้ายชื่อ เกี่ยนซ่าน
ต่อมาไม่นานนายซุ่ยจ้าย ได้แต่งงานกับนางสาวเซ่งห้วย แซ่กัง ในปีพ.ศ.2447 ซึ่งเป็นอาหมวยลูกคู่สามีภรรยาชาวจีน ที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในสยาม โดยขณะนั้นนางสาวเซ่งห้วยมีอายุราวสิบหกปี ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคนคือ เกี่ยนซิ่ว (มาโนช) เกี่ยนเต็ก (เกียรติ) และเกี่ยนหงวน (มานิช)
หลังจากอยู่กินกับนางเซ่งห้วยได้ราวสิบปี นายซุ่ยจ้ายไปได้ภรรยาใหม่อีกคนชื่อนางเผ็กเห้ง จนได้ลูกชายคือ นายเกี้ยนหุ้ย(อนันต์) ลูกคนนี้เกิดก่อนที่ตัวเขาจะเสียชีวิตเพียงสามปี นอกจากนั้นนายซุ่ยจ้าย ยังมีเมียที่ไม่ใช่เมียแต่ง และลูกอีกหลายคน ภายหลังสามีเสียชีวิตไประยะหนึ่ง นางเซ่งห้วยไปได้สามีใหม่ชื่อขุนอารักษ์ โดยให้กำเนิดบุตรสาวชื่อ สมถวิล ในระยะนั้นสามีใหม่ของนางก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันที่บ้านเดิมของนายบุญเสี้ยน[i]
[i] สำหรับนางสมถวิลมีสามีชื่อนายอุทัย อำนวยกิจ มีบุตรหกคนคือ นางโสรัจะ สุนทรัช น.ส.สุภาภรณ์ น.ส.อมรรัตน์ น.ส.ประภัสสร น.ส.พรศิริ และนายกิตติศักดื์
ป้ายหน้าชื่อผู้ตาย
แม้ นายซุ่ยจ้าย จะมีอาชีพเป็นพ่อค้าแต่ก็สนใจในเรื่องกิจการบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์บรรดาศักดิ์ ในสมัยรัชกาลที่หกเป็น ‘ขุนสกลการธานี’ กรมการพิเศษเมืองปัตตานี ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2457 เล่ม 31 หน้า 516 สำหรับกรมการพิเศษคือ กรมการเมืองพวกหนึ่งเป็นตำแหน่งกิตติมาศักดิ์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการเมืองในการบริหารราชการเมืองนั้นๆ โดยแต่งตั้งจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคหบดีในเมืองดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวน และถือว่าเป็นกรมการชั้นผู้ใหญ่
หลักฐานการมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่วนรวมของ ขุนสกลการธานี ปรากฏในแจ้งความกระทรวงธรรมการเรื่อง สร้างโรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศ มฌฑลปัตตานี ในส่วนของรายนามผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของบำรุง และช่วยในการเปิดโรงเรียน แจ้งความ ณ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2458 โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า- ‘ขุนสกลการธานี กรมการพิเศษ ช่วยมะโนราโรง ๑ หนังตะลุงโรง ๑’ (ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 เมษายน 2458 เล่ม 32 หน้า 188-195)
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งมาจากราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2460 โดยมีข้อความระบุว่า 'หลวงประสิทธิ์บุรีรมย์ ได้จัดรถยนต์ให้บรรทุกเครื่องสรรพภาระของกองลูกเสือ ทั้งไปและกลับคันหนึ่ง ขุนสกลการธานี ได้จัดรถยนต์ไว้ให้ใช้สรอยไปมาอีกคันหนึ่ง' ทั้งนี้เป็นการเอื้อเฟื้อ แก่กองลูกเสือของมณฑลปัตตานี ขณะไปทำการแรมคืนที่ตำบลบ้านควน อำเภอปะนาเระ จังหวัดยะหริ่ง (ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 สิงหาคมพ.ศ.2460 เล่ม 34 หน้า 1511-1512) น่าสังเกตุว่ารถยนต์พระที่นั่งคันแรกของสยามเข้ามาเมื่อปีพ.ศ.2445 แต่ไม่นานหลังจากนั้นทั้งขุนสกลการธานี และพี่เขย ต่างก็มีรถยนต์ใช้กันแล้ว
ต่อมาภายหลังนายซุ่ยจ้าย พร้อมกับบิดาและเครือญาติ เปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘วัฒนานิกร’ ซึ่งเป็นนามสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน (เข้าใจว่าเป็นการพระราชทาน ขณะเสด็จปัตตานีในปี พ.ศ. 2458 แต่ไม่มีหลักฐานอื่นใด นอกจากบทความของนายอนันต์ วัฒนานิกร) [ii] นายซุ่ยจ้ายเสียชีวิตขณะอายุเพียง 38 ปีเมื่อพ.ศ.2461 โดยก่อนหน้าที่เสียชีวิตไม่กี่เดือนนายซุ่ยจ้าย ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น ‘หลวงสกลการธานี’ กรมการพิเศษจังหวัดปัตตานี ถือศักดินา 600 ลงในราชกิจจาเล่ม 35 หน้า 2656 วันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2461 สำหรับนางเซ่งห้วยภรรยาคนแรกซึ่งถือกำเนิดเมื่อพ.ศ.2431 มีอายุยืนยาวต่อมาถึง 87 ปี
สำหรับป้ายหน้าชื่อ มีข้อความสรุปได้ว่า: ยุคสาธารณรัฐ ชื่อผู้ตาย คุ้นไซ้ แซ่ไหล่ (มีตัวอักษรที่แปลว่าขุนนางอยู่ด้วย คงหมายถึงกรณีที่นายซุ่ยจ้ายมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง) ด้านข้างระบุชื่อลูก ซิ่ว ซ่าน เต็ก หงวน (ชื่อผู้ตายจะไม่ตรงกับชื่อจริงตอนมีชีวิต เพราะเป็นธรรมเนียมจีนโบราณที่จะตั้งชื่อใหม่ให้ผู้ตาย) [iii]
[ii] อนันต์ วัฒนานิกร รุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ ต้นตระกูลเลขะกูลม 2459 (หน้า 32)
[iii} เอื้อเฟื้อคำแปลจากคุณหมอปานเทพ คณานุรักษ์
นางเซ่งห้วย สมัยเป็นสาวน้อย
นางเซ่งห้วยในชุดสมัยนิยมช่วงรัชกาลที่หก
หลวงสกลการธานี(ซ้ายสุด)ในชุดเสือป่า ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะกองอาสาสมัครรักษาดินแดนในสมัยในหลวงรัชกาลที่หก (เอื้อเฟื้อรูปจาก นายแพทย์ปานเทพ คณานุรักษ์)