ป้ายหน้าชื่อ นายจ๊าบ แซ่เล่ ต้นสกุลเลขะกุล

นายจ๊าบ แซ่เล่ เด็กหนุ่มจากกวางตุ้ง


นายจ๊าบ (หรือจับ) แซ่เล่ ถือเป็นต้นสกุล 'เลขะกุล' ในสยาม เพราะต่อมาภายหลังบุตรชายคนหนึ่งของเขาคือ หลวงศุภไสยสโมธาน ได้รับพระราชทานนามสกุลเลขะกุล จากในหลวงรัชกาลที่ 6 ตามตำนานกล่าวว่า นายจ๊าบเป็นชาวบ้านซุนเต๊ก แขวงมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน น่าจะเกิดในปีพ.ศ.2356 หากนับจากอายุและปีที่เสียชีวิต

เมื่ออพยพมาจากกวางตุ้งใหม่ๆ นายจ๊าบเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองรามันห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเมืองประเทศราชในแหลมมลายูที่เป็นของสยามมาแต่ดั้งเดิม ก่อนที่ภายหลังจะเสียดินแดนให้อังกฤษ อัน่ประกอบด้วยปัตตานี ยะหริ่ง หนองจิก ยะลา รามันห์ ระแงะ สายบุรี กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิศดังปรากฎในรูป ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างหลวมๆของเมืองสงขลา ยกเว้นไทรบุรีและปะลิศที่อยู่ภายใต้นครศรีธรรมราช ปัจจุบันซากเมืองรามันห์น่าจะอยู่ในตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

สำหรับอาชีพหลักของนายจ๊าบคือช่างฝีมือเครื่องทองรูปพรรณ ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ดังปรากฏหลักฐานงานช่างไม้และช่างสลักไม้ลายพันธุ์พฤกษาประดับตู้เตียงนอนแก่ พระยารามันห์ ซึ่งบุตรหลานท่านเจ้าเมืองยังเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ แต่เดิมเมืองรามันห์นั้นมีเจ้าเมืองที่มีอำนาจปกครองโดยอิสระ รวมถึงการเก็บภาษีและเกณฑ์แรงงาน ดังนั้นจึงมักมีเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองและเครือญาติ ใช้อำนาจในทางมิชอบก่อความทุกข์ยากแก่ราษฎรอยู่เสมอ ทำให้ภายหลัง นายจ๊าบจึงอพยพมาตั้งรกรากใหม่ในเมืองปัตตานี

เมืองปัตตานีขณะที่ นายจ๊าบ ย้ายถิ่นฐานเข้ามานั้น มีชุมชนชาวจีนตั้งเป็นหลักแหล่งมั่นคงมาก่อนในบริเวณที่เรียกว่า ‘กระดาจีนอ’ หรือ ‘ตลาดจีน’ ซึ่งก็คือบริเวณริมแม่น้ำปัตตานีที่ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนอาเนาะรูในปัจจุบัน ชุมชนชาวจีนที่ปัตตานีขณะนั้นมีหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง หรือ ตันปุ่ย ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากสงขลาเป็นหัวหน้า และเป็นผู้กำกับการเก็บส่วยสาอากรส่งเมืองสงขลา ทั้งนี้เพราะบุคคลผู้นี้ ได้รับความไว้วางใจจาก เจ้าเมืองสงขลา (เถี้ยนเส้ง) นับตั้งแต่อาสาช่วยราชการเจ้าเมืองและพระยาเพชรบุรีรบกับกบฏเมืองไทรบุรีและหัวเมืองมลายูเมื่อปีพ.ศ. 2375

นายจ๊าบตั้งบ้านเรือนอยู่ฝากทิศใต้ของถนนอาเนาะรู ตรงข้ามกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบัน โดยอยู่เยื้องไปทางทิศตะวันตก ต่อมาหลานสาวของนายจ๊าบคนหนึ่งชื่อจ่องเกี่ยว ก็ได้แต่งงานกับบุตรชายคนที่สามของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง คือ นายจู้เซียน สำหรับอาชีพของนายจ๊าบในระยะหลัง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นนายด่านภาษีอากรหรือ ‘บานา’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่าขุนด่าน

สำหรับชีวิตครอบครัวของ นายจ๊าบ หรือ ขุนด่านจ๊าบ เขามีถรรยาสองคนคือนางล่วนและนางกิ้มกู้ มีบุตรทั้งหมดเก้าคนดังปรากฎในสาแหรกตระกูลในหัวข้อก่อนหน้านี้ บุตรหญิงชายผู้สืบสกุลมีทายาทที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ นพ.บุญส่ง เลขะกุล นายฉัตรชัย (พนมเทียน) วิเศษสุวรรณภูมิ นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล บุตรหญิงคนหนึ่งคือกิ่มอิมแต่งงานกับพ่อค้าในตลาดจีนที่ชื่อ ลั้วลุก แซ่ลั้ว ผู้เป็นต้นสกุลแซ่ลั้ว(วัฒนานิกร)ในเวลาต่อมา ดังจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป[i]


[i] ขจร เลขะกุล และอนันต์ วัฒนานิกร รุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ ต้นตระกูล เลขะกุล 2459; http://www.kananurak.com

ชื่อและตำแหน่งเมืองของสยามก่อนเสียดินแดนให้อังกฤษ เส้นสีขาวคือพรมแดนไทยในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล เลขะกุล และ วัฒนานิกร ซึ่งต่อมาลูกหลานต่างก็ได้รับพระราชทานนามสกุลจากล้นเกล้ารัชกาลที่หก ถูกถ่ายทอดออกมาในโคลงกระทู้ ที่เขียนไว้โดย นายอนันต์ วัฒนานิกร ดังนี้่[ii]


นาม นี้กำเนิดจากไท้ ฉกราช

สกุลล่โปรดแปลงศาสตร์ อักษรตั้ง

เลขะ ไว้เพื่อคณาญาติ ระลึก ถึงนอ

กุล ก่อต่อยืนยั้ง ทั้วแคว้น แดนสยาม

นาม นี้ฉกราชไท้ ธ ประทาน

สกุล ลั้วแปลงเปลี่ยนสาร สืบสร้าง

วัฒนา ญาติชาติเชื้อนาน เนื่องต่อ กันนา

นิกร แพรกแยกย้ายกว้าง แกว่นหล้า ฟ้าสยาม

เมื่อ ขุนด่านจ๊าบ ถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. 2429 ในสมัยรัชกาลที่ห้าบรรดาลูกหลานได้นำศพไปฝังไว้ห่างจากตัวเมืองปัจจุบัน ไปทางทิศตะวันออกประมาณสามกิโลเมตร หมู่บ้านบริเวณที่ฝังศพขุนด่านนี้ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันต่อๆมาว่า ‘บ้านบานา’ ตราบจนปัจจุบัน

ไม่นานมานี้บรรดาทายาท ขุนด่านจ๊าบ ได้พิจารณาเห็นว่า ฮวงซุ้ยที่บ้านบานาในปัตตานีปัจจุปัน มีความไม่เหมาะสมหลายประการ ตลอดจนได้ชำรุดเสื่อมโทรมเกินกว่าที่จะบูรณะให้คงสภาพดี ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาอันตรายจากผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ จึงมีมติร่วมกันให้ย้ายฮวงซุ้ยจากที่เดิม ไปอยู่สุสานต้นตระกูลเลขะกุล ที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลาโดยการนำของ นพ. โอสถ เลขะกุล (พี่ชายของ นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล บุตร นพ.บุญส่ง เลขะกุล และเหลนของ หลวงศุภไสยสโมธาน) ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานเพื่อขุนด่านจ๊าบและทายาท[iii]


[ii] อนันต์ วัฒนานิกร รุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ ต้นตระกูล เลขะกุล 2459

[iii] คณะทำงานเพื่อขุนด่านจ๊าบและคุณแม่ทั้งสองฯ, ทำเนียบทายาทตระกูลขุนด่านจ๊าบ, 17 มกราคม 2559

บ้านขุนด่านจ๊าบในปัจจุบัน

(รูปล่าง) ฮวงซุ้ยเดิมที่บ้านบานา ปัตตานี (รูปบน) ฮวงซุ้ยที่จะสร้างใหม่ที่หัวเขาแดง สงขลา

แผนที่บ้านของขุนด่านจ๊าบและนายลั้วลุก ซึ่งอยู่ตรงข้ามถนนเยื้องกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนบ้านที่ระบายทึบอื่นๆคือบ้านลูกๆของนายลั้วลุก นอกจากนั้นในแผนที่ยังมีตำแหน่งบ้านเช่าและที่ดินตระกูล'วัฒนานิกร’ แผนที่นี้เป็นแผนที่ตลาดจีนราวช่วงปีพ.ศ.2450-2460 ซึ่ง นายเกียรติ วัฒนานิกร บิดาผู้เขียนได้บันทึกไว้ขณะอายุราว 60 ปี จากความทรงจำัยเด็ก